แนะนำปรัชญา

หลายคนเมื่อได้ยินคำว่า “ปรัชญา” มักจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยากและไกลตัวเกินกว่าจะเข้าใจ แต่แท้จริงปรัชญาเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและอยู่รอบตัวเรานั่นเอง มีคำพูดที่เคยได้ยินกันว่า ปรัชญาของนักการพนัน “เงินไปเที่ยว เดี๋ยวเดียวก็กลับ” ปรัชญานักการเมือง “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” หรือปรัชญาความรัก “ความรักคือสวนดอกไม้ที่ต้องรดด้วยน้ำตา” เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าคำพูดเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงหลักคิดและหลักการดำเนินชีวิตของแต่ละคนนั่นเอง หากพิจารณาคำว่า “ปรัชญา” มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า Philosophia ซึ่งประกอบด้วยคำภาษากรีกสองคำคือ Philos ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Love of หรือ Loving of แปลเป็นภาษาไทยว่า ความรัก กับคำว่า Sophia ตรงกับภาษอังกฤษว่า Wisdom, Knowledge แปลว่าปัญญา ความรู้ ความฉลาดปราดเปรื่อง ฉะนั้นเมื่อเอาสองคำมารวมกัน มีความหมายว่า Love of Wisdom แปลว่าความรักในความรู้ ความรักในปัญญา ความรักในความปราดเปรื่อง (สถิต วงศ์สวรรค์, 2543, น.4) มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “ปรัชญา” ไว้ดังนี้ เพลโต (Plato) นักปรัชญากรีก กล่าวว่า ปรัชญา คือ การศึกษาหาความรู้เรื่องสิ่งนิรันดรและความเป็นจริงของสิ่งเหล่านั้นหรือธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย หรือปรัชญามุ่งจะรู้สิ่งนิรันดรและธรรมชาติแท้จริงของสิ่งทั้งหลาย หรือปรัชญามีจุดหมายมุ่งสู่ความรู้แห่งสภาวะนิรันดรและธรรมชาติอันเป็นแก่นสารของสิ่งต่างๆ (สถิตย์ วงศ์สวรรค์, 2543, น. 6) วิลเลียม เจมส์ (William James) กล่าวว่า ปรัชญา คือ หลักการที่ใช้อธิบายความเป็นมาของสรรพสิ่งทั้งปวง โดยไม่มีการยกเว้นสิ่งอันใด องค์ประกอบร่วมกันที่มีอยู่ในเทพเจ้า มนุษย์ สัตว์ และดวงดาว จุดเริ่มต้นและจุดจบของความเป็นไปในสากลจักรวาลทั้งหมด สภาวะแห่งความรู้ทั้งมวลและหลักเกณฑ์ทั่วไปของการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ (สถิตย์ วงศ์สวรรค์, 2543, น. 6) บุญมี แท่นแก้ว และสถาพร มาลีเวชพงศ์ กล่าวว่า ปรัชญา คือ วิชาที่คิดหาเหตุผลตามหลักตรรกวิทยาเพื่อเข้าถึงความจริง (บุญมี แท่นแก้ว และสถาพร มาลีเวชพงศ์, 2530, น. 3) จากที่กล่าวมาสามารถสรุปได้ว่า ปรัชญา หมายถึง ปรัชญาเป็นวิชาที่ว่าด้วยการใช้เหตุผลและปรัชญาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาหาความจริงของโลกและมนุษย์