พัฒนาการปรัชญาตะวันตก

พัฒนาการปรัชญาตะวันตก มนุษย์เป็นสัตว์ใช้เหตุผล ดังจะเห็นจากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมีการใช้เหตุผลแสวงหาความรู้กันมาตลอด ซึ่งเรื่องที่มนุษย์สนใจแตกต่างกันไปตามสภาพสังคมของแต่ละสมัย ยุคโบราณ แนวคิดทางปรัชญาเริ่มจากการคิดค้นของชาวกรีก โลกตะวันตกถือว่าประชาชนที่รวมกันขึ้นเป็นรัฐอย่างมั่นคงและมีระเบียบแบบแผนจะเริ่มที่กรีกก่อน นครรัฐของกรีกเป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่บนดินแดนที่ล้อมรอบด้วยทะเลอีเจียน ศูนย์ทางวัฒนธรรมของกรีก คือกรุงเอเธนส์ นครรัฐของกรีก เจริญถึงขีดสุดในช่วงระหว่าง 600-400 ปีก่อนคริสตกาล ในช่วงนี้เองที่คนกรีกได้คิดค้นและสร้างปรัชญาขึ้นมา ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปรัชญาตะวันตก ยุคกรีกแบ่งออกเป็น 2 ยุคย่อยๆ ดังนี้ ก.ปรัชญากรีกยุคเริ่มแรก นักปรัชญากรีกมุ่งแสวงหาความจริงเกี่ยวกับต้นกำเนิดของสิ่งทั้งปวงหรือปฐมธาตุของโลก ดังนี้ ธาเลส (Thales, 624-548 ก่อนคริสตกาล) นักปรัชญาที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งปรัชญาตะวันตกยุคโบราณ” เป็นผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญาที่มีชื่อว่า “สำนักไอโอนิค” และเป็นผู้ที่คิดค้นหาปฐมธาตุของโลก เขาได้รับคำตอบต่อเรื่องนี้ว่า สิ่งที่เป็นปฐมธาตุของโลกหรือสรรพสิ่ง คือ “น้ำ” สรรพสิ่งถือกำเนิดมาจากน้ำและจะกลับคืนสู่น้ำในที่สุด อแนกซิแมนเดอร์ (Anaximander, 610-545 ก่อนคริสตกาล) ปฐมธาตุของโลกคือ อนันต์ (Infinite) เป็นสสารไร้รูปคือ ตัวมันเองยังไม่เป็นอะไรเลยและพร้อมที่จะเป็นสิ่งอื่นได้ทุกเมื่อ อแนกซิเมเนส (Anaximenes, 588-528 ก่อนคริสตกาล) ปฐมธาตุของโลกคือ อากาศ (Air) เพราะอากาศแผ่ขยายออกไปไม่มีที่สิ้นสุดและมีพลังขับเคลื่อนในตัวเอง โดยอธิบายว่า ในเวลาที่อากาศเคลื่อนตัวออกห่างจากกันและกัน อากาศขยายตัว ปริมาณของอากาศจะเจือจาง หากเจือจางถึงขีด อากาศจะกลายเป็นไฟ และลูกไฟก็กลายเป็นดวงดาวในท้องฟ้า ในทำนองกลับกัน ถ้าอากาศเคลื่อนเข้ารวมกันหรือมีการกลั่นตัว (Condersation) ความเข้มข้นของอากาศมีมาก อุณหภูมิของอากาศมีมาก อุณหภูมิของอากาศลดลง อากาศจะมีความเย็นมากขึ้นแล้วจับตัวเป็นก้อนเมฆ ถ้ายิ่งกลั่นตัวควบแน่นยิ่งขึ้น อากาศจะกลายเป็นน้ำแล้วกลายเป็นดินและหินได้ทีเดียว พิธากอรัส (Pythagoras, 582-517 ก่อนคริสตกาล) ปฐมธาตุของโลกคือ หน่วย (Unit) สิ่งทั้งหลายซึ่งรวมถึงจำนวนเลขเกิดมาจากหน่วย หน่วยหรือจุดรวมตัวกันทำให้เกิดเส้น เส้นรวมตัวกันทำให้เกิดเนื้อที่ เนื้อที่รวมตัวกันทำให้เกิดปริมาตร เฮราคลิตุส (Heraclitus, 535-475 ก่อนคริสตกาล) ปฐมธาตุของโลกคือ ไฟ เพราะไฟแปรรูปเป็นสรรพสิ่ง โดยระยะแรก ไฟแปรรูปเป็นลม จากลมเป็นน้ำ จากน้ำเป็นดิน นี่คือการแปรรูปทางลง (Downward Path) นอกจากนั้นดินอาจแปรรูปเป็นพลังเป็นน้ำ จากน้ำเป็นลม จากลมเป็นไฟ เป็นการแปรรูปทางขึ้น (Upward Path) ปรัชญากรีกยุครุ่งเรือง กรีกยุคหลังเริ่มต้นประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล สำนักปรัชญาที่เริ่มต้นในยุคนี้ คือ สำนักโซฟิสต์ แนวคิดทางปรัชญาในยุคนี้เปลี่ยนโฉมไปจากเดิมคือปรัชญาในยุคนี้มุ่งศึกษาฐานะของมนุษย์ในจักรวาล คำว่า “โซฟิสต์” แปลว่า ผู้ชำนาญ หรือชาญฉลาด แต่พวกโซฟิสต์ หมายถึงชนชั้นที่ประกอบอาชีพครู พวกนี้เป็นผู้มีอาชีพสอนเด็กหนุ่ม เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตโดยคิดค่าตอบแทนเป็นเงิน พวกนี้จะเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดประสบการณ์ในการสอนปรัชญา ในยุคหลังถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองเพราะมีนักปรัชญาที่สำคัญๆ เกิดขึ้น ดังนี้ (พีระพล คดบัว, 2548, น. 8-10) โสเครตีส (Socrates, 470-399 ก่อนคริสตกาล) โสเครตีสเป็นชาวเมืองเอเธนส์ เป็นตัวอย่างของผู้แสวงหาความจริงอย่างไม่ใฝ่ประโยชน์ ชีวิตของเขาอยู่ในช่วง 470-399 ปีก่อนคริสตกาล เป็นระยะที่วัฒนธรรมกรีกได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับโสเครตีสนั้นส่วนใหญ่ได้มาจากงานเขียนของเพลโต สานุศิษย์ของเขาเอง โสเครตีสไม่เคยเขียนอะไรเลย เขาเป็นผู้ที่ไม่สนใจใยดีกับเรื่องส่วนตัวของตนเองเท่าไรนัก โดยสนใจที่จะแสวงหาความรู้มากกว่าความสุขสบายทางกายและในฐานะที่เป็นพลเมืองผู้หนึ่ง เขาไม่หวั่นที่จะเรียกร้องความยุติธรรมแม้จะก่อให้เกิดผลเสียแก่ตัวเองก็ตาม แรกทีเดียวโสเครตีสสนใจการไตร่ตรองแบบวิทยาศาสตร์ของพวกไอโอเนียนและผู้สืบทอดความคิดแบบนี้ แต่เขามักประจักษ์ว่าทฤษฎีของพวกนี้ไม่ได้ช่วยให้มนุษย์สามารถเข้าใจตัวเองได้เลย ดังนั้นเขาจึงหันเหจากวิทยาศาสตร์และหันมาศึกษาปัญหาทางจริยศาสตร์ วิธีการที่เขาใช้ในการศึกษาก็คือวิธีการของเรขาคณิตที่นักคณิตศาสตร์ใช้กันอยู่ กล่าวคือ เริ่มจากข้อสมมุติฐานและตั้งข้อสรุปจากสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีการนิรนัย โสเครตีสก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้คนหนุ่มหัวแข็ง เมื่อชนชั้นรุ่นเก่าในกรุงเอเธนส์เสื่อมอำนาจลง ผู้ปกครองรุ่นใหม่ไม่ชอบใช้การที่โสเครตีสมีอิทธิพลต่อคนชั้นสูง นอกจากนั้นเขามักจะสร้างความยุ่งยากใจแก่ผู้ที่ร่วมสนทนาด้วย เขาถามผู้ที่คิดว่าตัวเองมีความเชี่ยวชาญ และมักจะพบเสมอๆว่า เขาเหล่านั้นไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เขาถนัดเลย โสเครตีสมีวิธีการพูดที่มีความหมายตรงกันข้ามกับคำพูดของเขา โดยเขาอ้างว่าตัวเขาเองนั้นมีความโง่อยู่มาก มิได้รู้มากกว่าคนอื่นเลย ซึ่งในแง่นี้ทำให้เขาฉลาดกว่าคนอื่นที่คิดว่าตัวเองรู้ความจริง แต่แล้วไม่รู้ การเหน็บแนม (Irony) แบบนี้เป็นอาวุธที่เขาใช้ประกอบในการโต้เถียง โสเครตีสไม่ใช่เป็นคนไม่เชื่อศาสนา แต่เขามีแนวความคิดเป็นตัวของตัวเอง เขาไม่สนใจในศาสนาประจำรัฐอย่างจริงจัง แต่ก็มิได้แสดงปฏิกิริยาใดๆออกมา ในขณะที่เขามิได้คล้อยตามผู้อื่นในสังคมเขาก็เหมือนกับนักคิดกรีกโดยทั่วไปที่ท้าทายต่ออำนาจการปกครอง และในที่สุดก็มีข้อกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้มีความผิดและไม่เชื่อพระเจ้า มีคนกลุ่มน้อยตัดสินว่าโสเครตีสผิด และหาเขายอมรับสารภาพผิด ศาลก็ยกโทษให้ แต่เขาปฏิเสธ โสเครตีสจึงต้องดื่มยาพิษตาย ภาพการตายของเขาปรากฏอยู่ในงานเขียนของเพลโตในบทสนทนาเรื่องเฟโด (Phaedo) เพลโต (Plato, 427-347 ก่อนคริสตกาล) งานเขียนของเพลโตได้นำแนวคิดต่างๆก่อนยุคโสเครตีสมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพลโตเกิดในตระกูลสูงและเป็นผู้ได้รับการอบรมจากโสเครตีสตลอดมา เขาได้ตั้งโรงเรียนอะคาเดมี (Academy) ที่มีชื่อเสียงขึ้นที่เมืองอะคาเดมัสนอกกรุงเอเธนส์ งานเขียนในระยะแรกของเพลโตมีทฤษฎีแบบ (Theory of Forms) เป็นศูนย์กลางในด้านทฤษฎีความรู้ เขาได้รับแนวคิดมาจากปาร์มินิเดสและเฮราคลีตุส แบบซึ่งเป็นวัตถุของความรู้ เป็นสิ่งที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับสิ่งที่เป็น “หนึ่ง” ในความหมายของปาร์เมนิเดส ซึ่งเป็นสิ่งสมบูรณ์และเป็นอมตะ และมีอยู่ในโลกที่สูงกว่า เป็นสิ่งที่อาจเข้าใจได้ด้วยจิต ในแง่หนึ่งสิ่งที่เรารับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสบ่งถึงวัตถุเฉพาะอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ เป็นสิ่งดี เปลี่ยนแปลงได้ เช่น เปลวไฟของเฮราคลีตุสและสิ่งเหล่านี้มองจากความคิดเห็นย่อมมีความแตกต่างกันไป เพลโตถือว่า สิ่งเฉพาะเช่น ถ้วย เป็นสิ่งที่แสดงมาจากโลกของแบบหรือภาพของความเป็นถ้วย เป็นสิ่งที่มีความมั่นคงที่ และเป็นแบบหนึ่งเดียวของถ้วยที่มีอยู่ในโลกของความคิด จุดสำคัญของทฤษฎีนี้จะเห็นได้ง่ายจากวิธีการที่เราใช้ภาษา เช่น มีถ้วยอยู่หลายถ้วยและในหลายๆถ้วยนี้ก็มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น สี รูปร่าง หรือขนาด แต่มีเพียงคำเดียวที่ใช้เรียก คือคำว่าถ้วย ถ้วยแต่ละถ้วยนี้อาจมีการแตกสลายได้ แต่แบบของถ้วยยังคงอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับคำว่า ถ้วย อริสโตเติล (Aristotle, 384-322 ก่อนคริสตกาล) นักศึกษาที่มีชื่อที่สุดของสำนักอะคาเดมีของเพลโตคือ อริสโตเติล เขาเกิดที่เมืองสตาจิรา ในแคว้นเทรส ได้เข้ามาในกรุงเอเธนส์ เมื่อปี 366 และอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเพลโตตาย หลังจากนั้นได้เป็นอาจารย์สอนอเล็กซานเดอร์ (ซึ่งต่อมาเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่) ขณะที่อเล็กซานเดอร์ปกครองอยู่ อริสโตเติลสอนหนังสือในกรุงเอเธนส์ที่ลีเซียมซึ่งเป็นโรงเรียนที่เขาได้ตั้งขึ้นเอง ถึงแม้อริสโตเติลจะมีความเข้าใจวิชาคณิตศาสตร์ในฐานะเป็นสมาชิกของสำนักอะคาเดมี แต่เขามีความสนใจวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา ความสนใจนี้นำเขาไปสู่วิธีการต่างๆ ในการที่จะตอบปัญหาหลายๆแบบ หน้าที่ประการหนึ่งของนักชีววิทยาคือการจัดประเภท ดังที่เราจะพบว่าอริสโตเติลให้ความสนใจต่อปัญหาตรรกศาสตร์ว่าด้วยการแบ่งนี้ ซึ่งการจำแนกชั้นนี้มุ่งไปในการจัดประเภทของสัตว์ (ระดับของธรรมชาติ) ซึ่งก็ยังเป็นที่ยอมรับจนถึงสมัยกลาง งานของเขาด้านชีวภาพทางทะเลแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้สำรวจได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ดีความสนใจของอริสโตเติลในด้านนี้ได้นำเขาไปผิดทาง เมื่อมองจากด้านที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์กายภาพ ขณะที่ชาวไอโอเนียและเพลโตได้เข้าถึงความเป็นจริงมากกว่า เนื่องจากอริสโตเติลได้นำหลักเกณฑ์ว่าด้วยสาเหตุและจุดมุ่งหมาย (Teleology) ไปใช้ในฟิสิกส์และดาราศาสตร์ด้วย ทฤษฎีทางปรัชญาของอริสโตเติลถือว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอยู่อย่างที่มันเป็นเพราะศักยภาพ (Potentialities) ในตัวของมันเอง เป็นต้นว่าเมล็ดของต้นโอ๊กก็มีแนวโน้มที่จะเป็นต้นโอ๊กต่อไป นั่นหมายถึงในสภาวะที่เหมาะสมมันก็จะเป็นโอ๊กต่อไป ซึ่งเป็นการแสดงถึงทฤษฎีว่าด้วยสสารและแบบของอริสโตเติล วัตถุใดก็ตามที่ประกอบด้วยสสาร หรือมวลสารใดที่มีแบบอยู่ แบบเป็นสิ่งที่ทำสิ่งนั้นให้เป็นสิ่งนั้น แบบนี้เสมือนลูกพี่ลูกน้องกับแบบของโสเครตีส แต่ขณะที่แบบของโสเครตีสเป็นสิ่งที่อยู่เหนือวัตถุ (อยู่เหนือและพ้นจากวัตถุแห่งการสัมผัส) สำหรับอริสโตเติลเป็นสิ่งที่อยู่ในวัตถุ (อยู่ในวัตถุที่เรารับรู้) หันกลับไปมองทฤษฎีว่าด้วยสาเหตุ (Theory of causality) ของอริสโตเติลว่าด้วยความสัมพันธ์ของเหตุและผล เราทราบว่าเขาได้กล่าวถึงสาเหตุสี่ประการที่ว่าสาเหตุหนึ่งเป็นสาเหตุของอีกอันหนึ่ง สาเหตุเหล่านี้ได้แก่ สาเหตุแห่งวัตถุ (Material cause) สาเหตุแห่งแบบ (Formal cause) สาเหตุประสิทธิภาพ (Efficient cause) และสาเหตุสุดท้าย (Final cause) เช่น ลองคิดถึงกระป๋องน้ำมันที่ระเบิด เมื่อไม้ขีดไฟได้หล่นลงไป กระป๋องน้ำมันก็คือสาเหตุทางวัตถุ ซึ่งมีลักษณะที่สัมพันธ์กับไม้ขีด เป็นสภาวะที่จำเป็นเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ การตกลงไปของไม้ขีดไฟเป็นสาเหตุประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันนี้เราเรียกว่าสาเหตุ และสาเหตุสุดท้ายคือแนวโน้ม หรือ “ความต้องการ” เมื่อน้ำมันกับออกซิเจนมีปฏิกิริยาต่อกันที่ทำให้เกิดการเผาผลาญขึ้น ปรัชญายุคกลาง ระยะเวลาที่เรียกกันว่า ยุคกลาง เป็นสมัยเวลาอันยาวนานประมาณ 900 ปี คือเริ่มประมาณตั้งแต่คริสตวรรษที่ 5 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งสามารถแบ่งตามความเป็นไปในประวัติศาสตร์ได้เป็น 2 ระยะคือ 1.สมัยมืดมน (Dark Age) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 10 เป็นระยะเวลาอันสับสนวุ่นวายและความเสื่อมโทรมทางอารยธรรม และ 2.ยุคกลางภาคหลัง (The Later Middle Ages) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึง 14 เป็นระยะเริ่มปรากฏแสงเรืองรองแห่งอารยธรรมอันก้าวหน้าขึ้นสู่ระดับสูงขึ้นๆเป็นอันดับไป ศาสนาคริสต์กำเนิดขึ้นในศาสนาคริสต์แรกเริ่ม ประชาชนสมัยนั้นไม่ได้เรียนหนังสือ อาศัยการเรียนจากของจริง ด้วยการดู การฟัง เช่นเมื่อต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ศาสนาก็จะศึกษาจากเรื่องราวที่บรรดาพระได้วาดรูปไว้ตามกระจกสี ส่วนทางด้านวิชาชีพก็จะไปศึกษาของจริงจากผู้ประกอบอาชีพนั้นโดยตรง มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นในยุคกลางภาคหลัง ทำให้เกิดระบบการศึกษาขึ้น การสอนเทววิทยานับเป็นหัวใจแห่งศาสตร์ทั้งหลายในยุคนี้ เพราะเป็นศาสตร์ที่อธิบายด้านศาสนาและแสดงให้เห็นถึงความฟื้นจากทุกข์ โดยนักปรัชญาส่วนมากเป็นนักบวชโดยนำหลักตรรกวิทยาของอริสโตเติลมาพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับหลักคำสอนทางศาสนาเรียกว่า ลัทธิอัสมาจารย์ (Scholasticism) เพื่ออธิบายการมีอยู่ของพระเจ้าอย่างเป็นเหตุและผล ซึ่งการศึกษาดังกล่าวมีส่วนช่วยให้นักเรียนมีความเฉียบแหลมขึ้นได้ด้วยการเรียนด้วยวิธีการคิดหาเหตุผลอย่างรอบคอบ ปรัชญายุคใหม่ ปรัชญายุคใหม่เกิดการปฏิวัติทางภูมิปัญญา เนื่องมาจากผลของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจุดสูงสุดของการปฏิวัติทางภูมิปัญญาในทางปรัชญา เป็นกระบวนการที่เรียกว่า การรู้แจ้ง (The Enlightenment) โดยปรัชญายุคใหม่เชื่อว่าเหตุผลจะนำพาเราไปสู่ความฉลาดรอบรู้ ความรู้มีรากฐานมาจากประสาทสัมผัส แต่ความรู้จากการสัมผัสเป็นเพียงวัตถุดิบ ที่จะต้องกลั่นกรองด้วยเหตุผลเสียก่อน จึงจะได้คุณค่าที่จะนำมาอธิบายโลก หรือนำมาปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น ปรัชญายุคใหม่เกิดปรัชญาขึ้นหลายสำนักได้แก่ ปรัชญาสายเหตุผลนิยม มีนักปรัชญาที่สำคัญ อาทิเช่น เรเน่ เดส์คาร์ตส์, สปิโนซา, ไลบ์นิซ ปรัชญาสายประสบการณ์นิยม มีนักปรัชญาที่สำคัญ อาทิเช่น โทมัส ฮอบส์, จอห์น ลอค, จอร์จ เบิร์กเล่ย์ และเดวิด ฮูม เป็นต้น