ความเหมือนและความต่างระหว่างปรัชญากับศาสนา

บทความครั้งก่อนได้บรรยายความหมายของปรัชญาและพัฒนาการทางปรัชญาไปแล้ว อาจมีผู้สงสัยว่าปรัชญาและศาสนามีความเหมือนกันและต่างกันอย่างไร บทความนี้จะนำเสนอความหมายของศาสนาและจะชี้ให้เห็นความเหมือนและความต่างระหว่างศาสนากับปรัชญา ดังนี้ ความหมายของศาสนา การศึกษาศาสนาอย่างเป็นวิชาการเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยศึกษาได้จากงานวิจัยเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของอาจารย์คนสำคัญๆ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกในการศึกษาเรื่องนี้ เราพบว่าการให้คำจำกัดความคำว่า “ศาสนา” กลายเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาโดยเฉพาะ เพราะศาสนามีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์คือ ค่อนข้างคลุมเครือ ไม่ชัดเจนเป็นขาวเป็นดำ ในตอนแรก การให้คำจำกัดความ “ศาสนา” เป็นการให้ความหมายเกี่ยวกับความเชื่อในพระเจ้าและการที่มนุษย์พยายามสื่อสารกับพระเจ้าเป็นสำคัญ แต่ต่อมาการศึกษาศาสนากว้างมากขึ้นและมิได้จำกัดเฉพาะศาสนาเอกเทวนิยมซึ่งมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางของความเชื่อ นักวิชาการตะวันตกเริ่มหันมาศึกษาศาสนาทางตะวันออกและรับรู้ถึงอุดมการณ์สูงสุดของศาสนาที่ไม่จำเป็นต้องเป็นพระเจ้าเสมอไป เช่น ศาสนาพุทธ เป็นต้น เมื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับศาสนามากขึ้น ข้อมูลในการพิจารณาเขียนคำจำกัดความก็เปลี่ยนไป เดอร์ไคม์ ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาให้คำจำกัดความว่า “ศาสนาคือระบบรวมว่าด้วยความเชื่อและปฏิบัติเพื่อความสัมพันธ์ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์” (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์และคณะ, 2546: 4) แต่กระนั้นการให้คำจำกัดความคำว่า “ศาสนา” ยังประสบความยุ่งยากเนื่องจากขาดข้อมูลที่เป็นความคิดเห็นร่วมกัน จากการประชุมคณะกรรมการผู้วิจัยศาสนาและความเชื่อตามโครงการวิจัยพื้นฐานจิตใจของประชาชนชาวไทย สาขาวิชาปรัชญา สภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2506 ได้มีการตกลงกำหนดโครงสร้างหรือองค์ประกอบของศาสนาไว้ 5 ประการ ซึ่งพอจะใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาศาสนาได้ดังนี้ คือ 1. พระพุทธเจ้า พระสมณโคดมในพุทธศาสนา พระนบีมุฮัมมัดในศาสนาอิสลาม เป็นต้น แต่มีกรณียกเว้นอีกเหมือนกันคือศาสนาพราหมณ์ซึ่งเป็นศาสนาเต็มรูปแบบ แต่ไม่มีศาสดาที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ คำสอนของศาสนาพราหมณ์ได้รับมาจากพระเจ้า แต่ถ่ายทอดผ่านฤษีในช่วงสมัยต่างๆกัน รวบรวมเข้าเจิมเป็นคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ เป็นต้น 2. มีหลักธรรมคำสอนที่มีการระบุชัดเจนเกี่ยวกับศีลธรรมจรรยาและกฎเกณฑ์การปฏิบัติ เช่น ในศาสนาพุทธมีการจารึกคำสอนลงเป็นหมวดหมู่เรียกว่า พระไตรปิฎก ศาสนาคริสต์มีคัมภีร์ไบเบิล เป็นต้น 3. มีหลักความเชื่อเป็นปรมัตถ์ เช่น ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามสอนเรื่องพระเจ้า ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูสอนเรื่องปรมาตมัน ศาสนาพุทธสอนเรื่องนิพพาน เป็นต้น 4. มีพิธีกรรม คือพิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงหลักการของศาสนา เช่น ศาสนาคริสต์มีพิธีรับศีล มหาสนิท ศาสนาพุทธมีพิธีบรรพชาอุปสมบท เป็นต้น 5. มีสถาบันทางศาสนา หมายถึง ศาสนสถาน คือที่ตั้งอันเป็นสถานที่ที่ศาสนิกมาพบปะ กันเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา เช่น โบสถ์ วิหารในพุทธศาสนา สุเหร่าในศาสนาอิสลาม เป็นต้น ศาสนสถานเหล่านี้จะไม่มีความหมายหากขาดผู้ประกอบพิธีกรรม ดังนี้จึงต้องมีองค์กรของศาสนา คือ พระภิกษุฝ่ายหนึ่งกับฆราวาสอีกฝ่ายหนึ่ง (ในพุทธศาสนา) แต่สำหรับศาสนาอิสลามแม้ไม่เน้นความแตกต่างระหว่างนักบวชกับฆราวาส แต่ก็จะมีโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม ซึ่งเป็นผู้รู้ในศาสนา เป็นองค์กรในศาสนาเช่นกัน (เรื่องเดียวกัน, หน้า 4- คำว่า ศาสนา โดยความหมายของศัพท์แปลว่า คำสอน หมายถึง คำสอนที่เกี่ยวกับความประพฤติทางกาย วาจา และใจ หรือเป็นคำสอนเกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดทั้งในปัจจุบันและรอดในโลกหน้า (ทวี ผลสมภพ, 2535: 7) ที่มาของความรู้ทางศาสนาไม่จำกัดขอบเขตเฉพาะประสาทสัมผัสเท่านั้น แต่ศาสนาได้ขยายขอบเขตถึงความจริงที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ซึ่งต้องอาศัยการปฏิบัติและประสบการณ์ทางศาสนาจึงจะสามารถรู้ได้ ซึ่งความจริงทางศาสนามีขอบเขตกว้างกว่าวิทยาศาสตร์ จึงไม่อาจใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาได้ ต้องอาศัยวิธีการเฉพาะของแต่ละศาสนา ซึ่งมักได้แก่ การปฏิบัติบำเพียรทางใจ เช่น การนั่งสมาธิ วิปัสสนา หรือศรัทธา เป็นต้น พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติเพื่อการเอาชีวิตรอด ตัวอย่างเช่น พระพุทธองค์ทรงวางแนวทางการสอนเพื่อประโยชน์ 3 ระดับ คือ (เรื่องเดียวกัน, หน้า 9) 1. ระดับต้น หมายถึง การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุข ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ประโยชน์ในปัจจุบัน และทรงวางแนวปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบัน 4 ข้อ คือ 1. มีความขยันทำการงาน (อุฎฐานสัมปทา) 2. รู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้ (อารักขสัมปทา) 3. มีเพื่อนเป็นคนดี (กัลยาณมิตตตา) 4. เลี้ยงชีวิตอย่างสม่ำเสมอไม่ฟุ้งเฟื้อเกินไปและไม่ขัดสนจนเกินไป (สมชีวิตา) โดยสรุปแล้วก็ได้ใจความว่า ใครก็ตามถ้าต้องการประโยชน์ในปัจจุบันหรือต้องการมีชีวิตเป็นสุขในปัจจุบันก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางทั้ง 4 ข้อนี้ให้ครบถึงจะเกิดผล ถ้าปฏิบัติเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ผลก็จะไม่สมบูรณ์ 2.ระดับกลาง หมายถึง การมีชีวิตเป็นสุขในโลกหน้า หลังจากตายไปแล้ว ทาง พระพุทธศาสนาเรียกว่าประโยชน์ในสัมปรายภพ คนเราเมื่อมีความสุขในปัจจุบันแล้ว บางคนก็อยากมีความสุขในโลกหน้าอีก เพื่อบรรลุความประสงค์พระพุทธองค์จึงทรงวางแนวทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขในโลกหน้า 4 ข้อ คือ 1. มีศรัทธา (สัทธาสัมปทา) 2. มีศีล 3. บริจาคทรัพย์ทั้งภายในภายนอก (ปริจาคสัมปทา) 4. มีปัญญารู้ความจริงของชีวิต (ปัญญาสัมปทา) รวมความว่าใครต้องการประโยชน์ในชาติหน้าก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางทั้ง 4 ข้อนี้ ให้ครบ ชีวิตของผู้นั้นก็เป็นอันอยู่รอดได้ในชาติหน้าอย่างแน่นอน 3.ระดับสูงสุด ทางพระพุทธศาสนา หมายถึง ตัดรากเหง้าของสังสารวัฏ กล่าวคือ ไม่เกิด ไม่ตายกันอีกต่อไป พระพุทธศาสนาถือว่าตราบใดที่ยังมีการเกิด ความทุกข์ทรมานก็จะยังมีอยู่ตราบนั้น ถ้าจะไม่ให้มีทุกข์กันอีกต่อไปก็ต้องไม่เกิด การที่จะมองเห็นการมีชีวิตอยู่ในโลกเป็นทุกข์นั้นจะต้องใช้ปัญญามอง ถ้าไม่ใช้ปัญญามองก็จะมองไม่เห็นความทุกข์ของการเกิด เมื่อมองไม่เห็นความทุกข์ของการเกิด ก็จะอยากเกิดอีกร่ำไป เช่น ปุถุชน เรามองไม่เห็นความทุกข์ของชีวิต เพราะฉะนั้น ปุถุชนจึงอยากเกิดอยู่ร่ำไป จะอย่างไรก็ตามเมื่อไม่อยากเกิดหรืออยากจะดับทุกข์ทั้งมวลตามคำสอนของพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ทรงวางแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุดไว้ 8 ประการ คือ 1. เห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) 2. ดำริชอบ (สัมมาสังกับปปะ) 3. เจรจาชอบ (สัมมาวาจา) 4. ทำการงานชอบ (สัมมากัมมันตะ) 5. พยายามชอบ (สัมมาวายามะ) 6. เลี้ยงชีวิตชอบ (สัมมาอาชีวะ) 7. ระลึกชอบ (สัมมาสติ) 8. ตั้งใจชอบ (สัมมาสมาธิ) แนวทาง 8 ประการนี้ ก็คือ มรรคมีองค์ 8 ที่เรารู้จักกันนั่นเอง ใครก็ตามที่ต้องการประโยชน์สูงสุด จะต้องปฏิบัติตามแนวทางทั้ง 8 ประการนี้ เมื่อปฏิบัติได้ครบถ้วนแล้ว ย่อมกำจัดกิเลสที่จะนำไปเกิดในภพต่างๆ ได้ เมื่อไม่เกิดเสียอย่างทุกข์บรรดามีในโลกเราก็ไม่ต้องเจอ เป็นอันว่าเราเอาตัวรอดได้ในสังสารวัฏทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า ถึงพระนิพพาน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาก็สอนให้ได้รับประโยชน์ในระดับต่างๆตามความต้องการของแต่ละคน โดยสรุปแล้ว คำว่า ศาสนาแปลว่า คำสอนที่ให้แนวทางปฏิบัติเพื่อความสุขในระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง ความเหมือนและความต่างระหว่างศาสนากับปรัชญา ในความหมายทั่วไป ปรัชญาของใครก็คือบทสรุปความเชื่อมั่นสำคัญๆของผู้นั้น ปรัชญาเป็นเรื่องของการสอบสวนถึงธรรมชาติของความจริงซึ่งดำเนินไปเกินขอบเขตของประสบการณ์โดยทะลุเข้าไปยังแก่นของชีวิตและโลก ทั้งนี้เพราะปรัชญามีเป้าหมายหลักอยู่ 2 อย่าง คือ (1) เพื่อเข้าใจถึงโครงสร้างของโลกเชิงทฤษฎี และ (2) เพื่อค้นหาและประกาศวิถีชีวิตที่ดีที่สุด นับตั้งแต่เฮราไคลตุสจนถึงเฮเกลหรือแม้มาร์กซ์ ปรัชญายังคงรักษาเป้าหมายทั้งสองอย่างนี้ไว้ตลอด คือไม่เป็นทฤษฎีล้วนๆหรือเป็นปฏิบัติทั้งหมด แต่แสวงหาทฤษฎีเอกภพเพื่อที่จะใช้เป็นฐานทางศีลธรรม โดยนัยนี้ศาสนาจึงต้องการให้ผู้นับถือปฏิบัติตามขั้นตอนของระบบคำสอน เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงสิ่งที่ดีที่สุดอันเป็นเนื้อหาของความจริงแท้ๆ และทำให้มีความรู้สึกว่าได้สัมผัสอยู่กับความจริงนั้นทั้งหมดหรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เป็นเรื่องของพุทธปัญญาล้วนๆ ในปรัชญา อันที่จริงแล้วก็คือเรื่องของประสบการณ์ตรงที่เข้าถึงได้ด้วยศาสนา สิ่งแรกที่สังเกตเห็นเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างปรัชญากับศาสนา คือ ปรัชญาเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจธรรมชาติและโครงสร้างความจริงอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนศาสนาเป็นเรื่องของการเข้าถึงความจริงนั้นโดยตรง จึงเน้นให้ลงมือกระทำหรือปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี อีกประการหนึ่ง ปรัชญาเป็นเรื่องของการใช้ความคิด เหตุผลหรือความรอบรู้อย่างกว้างขวาง ส่วนศาสนาก้าวไกลไปกว่านั้น คือใช้ความรู้คิด (knowing) ความรู้สึก (feeling) และความตั้งใจ (willing) อันเป็นการศึกษาภาวะทั้งหมดของมนุษย์ มนุษย์มิใช่เพียงสัตว์ที่มีเหตุผลเท่านั้น หากยังค้นหาความหมายของหลักปฏิบัติ มาตรฐานหรืออุดมคติในการปฏิบัตินั้นๆด้วย และมนุษย์ค้นคิดให้กำเนิดวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และมีศีลธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง ในทางความคิด มนุษย์ก็เสาะแสวงหามาตรฐานความจริง ในความรู้สึกหรืออารมณ์ เขาเสาะแสวงหาความงาม และในกิจกรรม เขาพยายามที่จะบรรลุความดีในความสำนึกทางศาสนา มนุษย์มีความรู้สึกว่าเขากำลังสัมผัสอยู่กับอุดมคติหรือคุณค่าต่างๆอันมีอยู่แล้วเป็นนิรันดร์ นอกจากนี้ปรัชญาต้องการที่จะเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง แต่ศาสนาเน้นอารมณ์อย่างเต็มที่ ความกลัว ความศรัทธา ความผิดหวัง ความสมหวัง ฯลฯ เหล่านี้เป็นลักษณะทั่วไปของศาสนา ปรัชญามีลักษณะใจกว้าง ยับยั้งชั่งใจ สงสัยและใช้เหตุผล แต่ศาสนาให้ความสำคัญแก่ความเชื่อมั่นและลักษณะสิทธิธันตนิยม (dogmatic) โดยเฉพาะเกี่ยวกับคำสอนหลักๆ แม้จะมีความแตกต่างกันดังกล่าว ปรัชญาและศาสนาก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ศาสนาต้องอาศัยปรัชญาเพื่อความมั่นคงและก้าวหน้าในทฤษฎีคำสอน ฝ่ายปรัชญาก็ต้องอาศัยศาสนาเป็นจุดเริ่มต้น คือความอยากรู้อยากเห็นถูกกระตุ้นโดยศาสนา กล่าวคือความต้องการความมั่นคงปลอดภัยในการดำรงชีวิต เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างศาสนากับปรัชญา เพราะปรัชญาจะวิพากษ์เฉพาะความเชื่อที่ไร้เหตุผลหรือความคิดที่ผิดและปราศจากวิจารณญาณเท่านั้น เบคอนกล่าวไว้อย่างสมเหตุสมผลว่า “ใจคนที่มีปรัชญาเพียงเล็กน้อยจะทำให้เขาเหินห่างจากศาสนา แต่เมื่อมีปรัชญาลึกซึ้งจริงๆจะทำให้เขาหันมายังศาสนา” (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์, 2546: 13-14)