จุดประสงค์ของการจัดทำบล็อกนี้ เพื่อต้องการเผยแพร่ความรู้ทางปรัชญาแก่นักศึกษาและผู้สนใจโดยทั่วไป
ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับเทววิทยา
ความหมายของเทววิทยา
เทววิทยา (Theology) เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีกสองคำคือ Theos (พระเจ้า) และLogos (ถ้อยคำ คำสอน หรือศาสตร์) ฉะนั้น ในแง่เฉพาะเจาะจง จึงหมายถึงหลักคำสอนอันว่าด้วยเรื่องพระเจ้า แต่หากพิจารณาความหมายซึ่งใช้กันทั่วไป หมายถึงหลักคำสอนไม่เฉพาะแต่เรื่อง พระเจ้าเท่านั้น ยังรวมถึงหลักคำสอนทั้งหลายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่างๆของพระเจ้ากับจักรวาลอีกด้วย
เทววิทยา เป็นวิชาที่กล่าวถึงความรู้เกี่ยวกับเทพเจ้า (ความหมายตามรูปศัพท์) มีปรากฏชัดในศาสนาประเภทเทวนิยม (Theistic Religion) ที่ยอมรับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าที่อยู่เหนือตน เทววิทยากล่าวถึงกำเนิดของพระเจ้า คุณสมบัติของพระเจ้า การเข้าถึงพระเจ้า การปฏิบัติตัวต่อพระเจ้า การลงโทษของพระเจ้าต่อผู้ที่ละเมิดพระบัญญัติ ความมีอยู่จริงของพระเจ้า (แสวง แสนบุตร, 2545: 5)
อดิศักดิ์ ทองบุญ กล่าวว่า โดยทั่วไปคำว่า “เทวนิยม” (Theism) หมายถึงลัทธิที่เชื่อว่า มีพระเจ้าผู้ทรงอำนาจยิ่งใหญ่พระองค์เดียว พระเจ้านั้นทรงมีอำนาจครอบครองโลก และสามารถดลบันดาลความเป็นไปในโลก
เทวนิยมทางอภิปรัชญาจะเน้นว่าพระเจ้ามีอยู่จริง คือเป็นสัตที่มีอยู่อย่างเที่ยงแท้ถาวร ไม่ใช่เป็นเพียงอุดมคติอย่างที่นักปรัชญาธรรมชาตินิยมบางพวกเข้าใจ เพราะนักปรัชญาธรรมชาตินิยมนำเอาพระเจ้า (God) ไปใช้หมายถึง มโนภาพอย่างหนึ่ง (a concept) ซึ่งผูกยึดค่านิยมหรือเป้าประสงค์ของมนุษย์ให้รวมเข้าเป็นเอกภาพอย่างหนึ่งนั้น พระเจ้าของนักปรัชญาธรรมชาตินิยมจึงเป็นเพียงอุดมคติเท่านั้น ไม่ใช่สัตอย่างที่นักปรัชญาเทวนิยมหมายถึง ด้วยเหตุนี้จึงถือกันว่า นักปรัชญาธรรมชาตินิยมเป็นอเทวนิยม (atheism)
ปรัชญาตะวันตกส่วนมากที่สืบทอดเป็นปรัมปราประเพณีนั้นล้วนเป็นปรัชญาฝ่ายเทวนิยมทั้งสิ้นและระบบอภิปรัชญาส่วนมากซึ่งพัฒนามาจากศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม ต่างก็ถือเอาความมีอยู่ของพระเจ้าผู้สร้างโลกเป็นจุดเริ่มต้นของอภิปรัชญานั้นๆเหมือนกัน แม้ในปรัชญากรีกรุ่นแรกๆก็ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นธรรมชาตินิยมอย่างเด่นชัด แต่ประเพณีนิยมทางอภิปรัชญาที่มีอิทธิพลคืออภิปรัชญาของเพลโตและอริสโตเติล เป็นฝ่ายเทวนิยมเช่นเดียวกัน ในสมัยใหม่แม้เมื่อธรรมชาตินิยมได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ระบบอภิปรัชญาเทวนิยมก็เกิดตามมามากมาย หลักปรัชญาเทวนิยมสมัยใหม่แตกต่างจากเทวนิยมสมัยก่อนที่เห็นก็คือ ได้เพิ่มระดับปัจเจกนิยมให้มากขึ้นและลดความไว้วางใจในข้อสมมติฐานของประเพณีนิยมทางศาสนาให้น้อยลง
นอกจากคำเทวนิยมแล้วยังมีอีกหลายคำที่ใช้กันมากในอภิปรัชญาคือ เทววิทยา (Theology) คำนี้มีนิยามว่าวิชาว่าด้วยพระเจ้าและความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับโลกและถือว่าเป็นสาขาหนึ่งของอภิปรัชญา เทววิทยามี 2 แบบคือ
1. เทววิทยาธรรมชาติ (natural theology)
2. เทววิทยาวิวรณ์ (revealed or sacred theology)
วัฒนธรรมทางศาสนาของยุโรปสมัยกลางเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า มีแหล่งเกิดความรู้ที่
เชื่อถือได้อยู่ 2 แหล่งเท่านั้น คือ จากวิวรณ์ (revelation) กับเหตุผลของมนุษย์ (human reason) นักเทววิทยาสมัยกลางถือว่า ความรู้ทางเทววิทยาส่วนมากเกิดจากวิวรณ์ แต่ความรู้ที่เกี่ยวกับพระเจ้าที่น่าจะสมบูรณ์นั้นได้มาจากเหตุผลตามธรรมชาติ
นักปรัชญาสมัยต่อมาถือว่า การค้นหาความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าโดยไม่ต้องอาศัยคัมภีร์ ศรัทธา ประเพณีนิยม สำนักสอนศาสนา เป็นต้น จุดเป็นเทววิทยาธรรมชาติ ศาสนาธรรมชาติ (natural religion) เทวธรรมศาสตร์ (Thedicy) หรือที่ค้านท์ (Kant) เรียกว่า เทววิทยา (อดิศักดิ์ ทองบุญ, 2540: 202)
ที่มาของความรู้ของศาสนาเทววิทยาไม่ได้มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางของความรู้ มนุษย์ไม่สามารถรู้จักพระเจ้าได้ทั้งหมด เพราะมนุษย์มีขอบเขตจำกัดของความรู้เกี่ยวกับสิ่งสูงสุด การพยายามรู้จักพระเจ้าได้มาจากการอ้างเหตุผลจากบทพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าไม่ว่าจะเป็นการอ้างเหตุผลแบบภววิทยา, การอ้างเหตุผลแบบจักรวาลวิทยา และการอ้างเหตุผลแบบอันตวิทยา แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถทำให้รู้จักพระเจ้าได้ จึงต้องใช้ศรัทธาเพื่อเป็นการก้าวข้ามเหตุผลในการรู้จักสิ่งสูงสุด มนุษย์จะต้องตอบสนองความรักนั้นด้วยความไว้วางใจหรือศรัทธา
ความสำคัญของเทววิทยา
1. สัญชาตญาณการจัดระบบของภูมิปัญญา
สติปัญญาของมนุษย์ไม่ได้พึงพอใจแค่ได้สะสมหรือรวบรวมข้อมูล แต่ยังพยายาม
หาทางประมวลและจัดระบบความรู้ที่ได้มาให้เป็นเอกภาพ จิตของเราไม่พึงพอใจเพียงแค่ได้พบความจริงบางอย่างเกี่ยวกับพระเจ้า มนุษย์ และจักรวาลเท่านั้น ยังต้องการรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสิ่งต่างๆดังกล่าว ทั้งยังต้องการจัดระเบียบให้กับสิ่งที่ค้นพบ จิตไม่ได้พอใจกับส่วนเสี้ยวความรู้ที่ไม่ปะติดปะต่อกัน ยังต้องการจัดระบบความรู้ และหามติกับข้อสรุปออกมา
2. ความไม่เชื่อที่แผ่ซ่านไปทั่วในยุคนี้
อันตรายที่คุกคามคริสตจักรในยุคนี้ ไม่ได้มาจากวิทยาศาสตร์แต่มาจากปรัชญา ซึ่ง
ส่วนใหญ่รับแนวคิดแบบอเทวนิยม (Atheism) อไญยนิยม (Agnosticism) สรรพเทวนิยม (Pantheism) เป็นต้น ทำให้คนไม่เชื่อพระเจ้า ฉะนั้นการศึกษาเทววิทยาจึงจำเป็นต้อง “เตรียมให้พร้อมเสมอ” เพื่อจะตอบได้ว่าเรา “เรามีความหวังเช่นนี้ด้วยเหตุผลประการใด” ต้องมีความเชื่อที่เป็นระบบ เพื่อที่จะปกป้องความเชื่อของเราได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
3. ลักษณะของคัมภีร์
เกิดจากการรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ มาสร้างให้เป็นระบบอันสมเหตุสมผล
มีหลักคำสอนบางเรื่องที่มีใจความครบถ้วนในพระคัมภีร์ตอนเดียว แต่ไม่มีเรื่องไหนที่มีใจความครบถ้วนทุกระบวนความภายในตอนเดียว หลักคำสอนที่มีใจความครบถ้วนภายในตอนเดียว เช่น ความหมายของการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ คุณลักษณะของพระคำของพระเจ้าในสดุดี เป็นต้น ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อที่เกี่ยวข้องได้อย่างครบถ้วนก็จริง แต่ไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมดสำหรับหัวข้อนั้นๆ ฉะนั้น ถ้าอยากรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดในหัวข้อหนึ่งหัวข้อใด เราจำเป็นต้องรวบรวมคำสอนเกี่ยวกับหัวข้อนั้นจากคัมภีร์ตอนอื่นๆ มาประมวลให้เป็นระบบที่สมเหตุสมผลและสอดคล้องกัน
4. การพัฒนาอุปนิสัยแบบคริสเตียน
เกิดจากความเชื่อที่แท้ อันเกี่ยวโยงทั้งภูมิความรู้ การใช้เหตุผล และเจตจำนงนั้น มีผล
ต่อบุคลิกและความประพฤติ คนเราจะทำตามสิ่งที่เราเชื่อจริงๆ ไม่ใช่ตามสิ่งที่เราแกล้งเชื่อ ความเชื่อจะช่วยชี้นำการตรึกตรองประเด็นปัญหาต่างๆทางจริยธรรมและกระตุ้นให้มีชีวิตที่บริสุทธิ์หรือมีแนวคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระเจ้า เพื่อนมนุษย์ พระคริสต์ เป็นต้น นอกจากนี้ความเชื่อยังให้แรงจูงใจที่จะขวนขวายดำเนินชีวิตให้ได้ตามมาตรฐานนั้นด้วย
5. เงื่อนไขของการรับใช้พระเจ้าอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ที่เชื่อพระเจ้าจะสามารถรับใช้พระเจ้าและปกป้องความเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพ จะ
สามารถต้านรับการโจมตีของมารซาตาน และรุดหน้าไปอย่างมีชัยชนะตามที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมให้เราในพระคริสต์ได้ ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าเราเชื่ออะไร
ศาสนากับเทววิทยา
ในความหมายดั้งเดิม เทววิทยาอาจมาพร้อมกับประสบการณ์ทางศาสนาตั้งแต่อุบัติการณ์ของมนุษย์จนถึงปัจจุบัน การเกิดขึ้นของเทววิทยาในยุคกลางแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะตีความการโต้ตอบเพื่อแก้ไขความผิด การจัดระบบคำสอน ตลอดจนการไตร่ตรอง ซึ่งอย่างหลังนี้มีความหมายว่า “การไตร่ตรองความเชื่อหรือข้อความเชื่อซึ่งพระศาสนจักรสั่งสอนประการหนึ่ง และประสบการณ์ความเชื่อของชาวคริสต์ ซึ่งเป็นผู้กระทำการไตร่ตรองนั้นอีกประการหนึ่ง” ในการทำสังคายนาวาติกันครั้งที่สองได้มีข้อเสนอแนะสำหรับผู้ที่ศึกษาเทววิทยาโดยตรงว่า “ให้ทำการศึกษาค้นคว้าโดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทางสาขาวิชาต่างๆร่วมแรงร่วมความคิดในเรื่องการวิจัยทางเทวศาสตร์ ขณะที่ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความจริงที่พระเจ้าทรงเปิดเผยก็อย่าละเลยการติดต่อกับยุคสมัยของตนเอง”
สรุปความว่าเทววิทยาเป็นความพยายามที่จะทำการศึกษาศาสนาอย่างเป็นระบบ เพื่อการดำรงความจริงทางศาสนาไว้อย่างเหมาะสมท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก และอาจถือว่าเป็นงานชั้นอรรถกถา ฎีกา และปกรณ์พิเศษของศาสนาพุทธ แม้ว่าเนื้อหาจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงก็ตาม