จุดประสงค์ของการจัดทำบล็อกนี้ เพื่อต้องการเผยแพร่ความรู้ทางปรัชญาแก่นักศึกษาและผู้สนใจโดยทั่วไป
ธาตุแท้ของมนุษย์
ธาตุแท้ของมนุษย์ เป็นประเด็นปัญหาที่ว่าด้วยธาตุแท้หรือแก่นแท้ของมนุษย์ สามารถแยกเป็นทัศนะต่อปรัชญาได้ดังนี้
1. จิตนิยม ชาวจิตนิยมเชื่อว่า ธาตุแท้ของมนุษย์คือวิญญาณ มนุษย์ประกอบด้วย
ส่วนประกอบสองส่วนคือ ร่างกายและจิตใจ สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกาย คือสสาร เป็นสิ่งที่มีการเกิดเปลี่ยนแปลงและสลายไปตามกาลเวลา และสิ่งที่เรียกว่าจิต (Mind) หรือวิญญาณ (Soul) หรือจะเรียกอย่างอื่นเป็นสิ่งที่มิใช่สสารหรือวัตถุ แต่จะต้องเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของร่างกาย ชาวจิตนิยมเชื่อว่า จิตหรือวิญญาณเป็นอมตะ ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ ไม่สูญสลาย เพราะจิตเป็นสิ่งที่รู้คิด หรือจินตนาการ จิตเป็นผู้บังคับให้ทำตามที่คิดและจินตนาการ
2. สสารนิยม ชาวสสารนิยมเชื่อว่า มนุษย์คือเครื่องจักร มนุษย์มิใช่จิตหรือวิญญาณ โดย
เห็นว่าธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์มีเพียงสสารหรือร่างกายเท่านั้น โทมัส ฮอบส์ นักปรัชญาสสารนิยมในปรัชญายุคใหม่มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นเครื่องจักรกลไปหมด แม้แต่ร่างกายของมนุษย์ เขาก็อธิบายเปรียบเทียบมันเหมือนกับเครื่องจักรที่ซับซ้อน เช่น ตา เปรียบเทียบได้กับกล้องถ่ายรูป ปอดเปรียบได้กับเครื่องสูบลม แขนเปรียบได้กับคานงัด เครื่องมือต่างๆหลายร้อยชิ้น ในร่างกายมนุษย์ ประสานงานกันด้วยระบบประสาทซึ่งเปรียบเสมือนสายโทรศัพท์ที่ติดต่อทั่วถึงกันหมด โดยมีจุดศูนย์กลางหรือสำนักงานใหญ่ที่สมอง ดังนั้น ร่างกายของมนุษย์ก็คือ เครื่องจักรกลแต่ละชิ้นที่สัมพันธ์กันอย่างละเอียดพิสดารและมีประสิทธิภาพสูง จิตของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน เป็นสสารละเอียดอ่อน มีที่ตั้งอยู่ที่สมอง และอยู่ภายใต้กฎแห่งการเคลื่อนไหวแบบกลไกเช่นกัน
3. ธรรมชาตินิยม ชาวธรรมชาตินิยมเชื่อว่า มนุษย์คือตัวเอง กล่าวคือ มนุษย์เป็นผลิตผล
ของวิวัฒนาการอันเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นในจักรวาล มนุษย์มิใช่เป็นเพียงการรวมกันของสารเคมีเท่านั้น หากแต่มนุษย์ก็มีโลกของเขา มีคุณสมบัติอันเป็นของเขา เช่น การเรียนรู้ได้ รู้สึก มีอารมณ์ รู้รสของสุนทรียะ และรู้จักความดี ชาวธรรมชาตินิยมเชื่อว่า มนุษย์มีความสามารถและมีคุณสมบัติบางอย่างที่สัตว์อื่นไม่มี คุณสมบัติบางอย่างดังกล่าว เช่น มีสติปัญญาเรียนรู้ มีความฝัน มีแรงบันดาลใจ รู้จักศิลปะ มีสำนึกผิดชอบชั่วดี มีการวางแผนในอนาคต รู้จักว่ากำลังทำอะไรและเพื่ออะไร