อภิปรัชญา อภิปรัชญา (Metaphysics) มีรากศัพท์มาจากคำสองคำคือ Meta และ Physics โดยคำว่า Meta หมายถึง ล่วงพ้น และ Physics แปลว่าธรรมชาติ เมื่อรวมสองคำเข้าด้วยกันจึงแปลว่า สภาวะที่อยู่เหนือการสัมผัส หรือบางครั้งอาจเรียกอภิปรัชญาว่า ภววิทยา (Ontology) ได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อก่อนเรียกวิชานี้ว่า ภววิทยา ซึ่งหมายถึงวิชาว่าด้วยความมีอยู่ ความแท้จริง อภิปรัชญา คำนี้เกิดจากเหตุบังเอิญคือ แอนโดรนิคัส (Andronicus) แห่งเกาะโรดส์ (Rhodes) เป็นผู้รวบรวมงานเขียนของอริสโตเติลจัดเรียงเข้าด้วยกัน โดยเรียงปฐมปรัชญา (First Philosophy) ไว้หลังปรัชญาธรรมชาติ (Natural philosophy) หรือฟิสิกส์ (Physics) ครั้นต่อมานีโคลาอุส (Nicolaus) แห่งดามัสกัสเป็นคนแรกที่เรียกปฐมปรัชญาตามลำดับที่เรียงอยู่ว่า Ta mata ta physika แปลว่าสิ่งที่มาหลัง Physika ก็คือ Physics ดังนั้นเมื่อรวมกันเข้าด้วยกันจึงกลายเป็น Metaphysics ขอบเขตการศึกษาอภิปรัชญาไม่สามารถจำกัดขอบเขตได้ง่าย เนื่องจากเนื้อหาของอภิปรัชญามีมากและเป็นการศึกษาสิ่งที่อยู่พ้นประสาทสัมผัสของมนุษย์แต่เราสามารถมองเห็นปัญหาอภิปรัชญาจากตัวอย่างดังนี้ ปัญหาเนื้อแท้และการเปลี่ยนแปลงของโลก ปัญหาธาตุแท้ของมนุษย์ ปัญหาเจตจำนงเสรีและลัทธิเหตุวิสัย ปัญหาการมีอยู่ของพระเจ้าและปัญหาความชั่วร้าย เป็นต้น ปัญหาสำคัญในอภิปรัชญา บทนี้เราจะพิจารณาบางปัญหาสำคัญในอภิปรัชญา ดังนี้ ปัญหาเนื้อแท้และการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้แก่ อะไรคือความเป็นจริง หรืออะไรคือสิ่งที่แท้จริงสูงสุด และสิ่งนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร สามารถแยกเป็นทัศนะต่อปัญหาได้ดังนี้ 1. จิตนิยม (Idealism) ชาวจิตนิยมเชื่อว่ามีความจริง ที่นอกจากสสารหรือวัตถุ ที่เรา มองเห็น สัมผัสและจับต้องได้ที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน เป็นความจริงที่มีลักษณะเป็นอสสาร ซึ่งไม่มีตัวตน มองด้วยตา จับต้องด้วยมือไม่ได้ ดังนั้นชาวจิตนิยมจึงเชื่อว่า เนื้อแท้ของโลกหรือจักรวาลมิใช่มีเพียงสสารหรือวัตถุเท่านั้น แต่อสสารก็เป็นจริงและเข้ามามีบทบาทในโลกแห่งสสารด้วย ตัวอย่างทัศนะของคริสต์ศาสนาถือว่าเป็นตัวแทนของจิตนิยมได้ชัดเจนมีว่า นอกเหนือจากโลกของสรรพสิ่งที่เรามองเห็น จับต้องได้ ยังมีความจริงอีกคือพระเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนจับต้องไม่ได้ พระองค์ทรงมีบทบาทในโลกมนุษย์คือสร้างโลกและมนุษย์ และพระองค์ยังเป็นจุดหมายแห่งความเป็นไปของโลกมนุษย์อีกด้วย ศาสนาพราหมณ์ก็เป็นศาสนาหนึ่งซึ่งมีทัศนะว่าพระเจ้าคือผู้สร้าง รักษาและทำลายโลก พระเจ้าเป็นสิ่งแท้จริงสูงสุดและเป็นความจริงอันติมะ และแนวคิดของเพลโต เรื่องทฤษฎีแบบ ก็เป็นแนวคิดหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของชาวจิตนิยม (ทองหล่อ วงษ์ธรรมา, 2549, น. 87) ชาวจิตนิยมมองการเปลี่ยนแปลงของโลกสอดคล้องกับทัศนะแบบอันตนิยมกล่าวคือ อันตนิยมเชื่อว่า ทุกสิ่งเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไป สู่จุดหมายปลายทาง ดังเช่นปรากฏในแนวคิดของอริสโตเติลที่กล่าวถึงกระบวนการของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทางของมัน โดยชี้ว่าสิ่งที่จะเคลื่อนไหวไปสู่จุดหมายนั้นประกอบด้วยภาวะ 2 อย่าง คือ ภาวะแฝง และภาวะจริง ตัวอย่างเช่น เมล็ดมะม่วงที่เราจะนำไปเพาะ เมล็ดมะม่วงนี้คือภาวะจริง ขณะเดียวกันมันยังมีสิ่งอื่นที่ยังอยู่ข้างในคือ สิ่งที่เรียกว่า “ภาวะแฝง” ภาวะแฝงนี่เองจะปรากฏเป็นจริงออกมาภายหลัง อริสโตเติลเชื่อว่าทุกสิ่งในจักรวาลเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปสู่จุดหมาย ไม่มีสิ่งใดไม่มีที่มาและดำเนินไปอย่างไร้จุดหมาย หากวิเคราะห์จากทัศนะแบบจิตนิยม สิ่งที่กำหนดจุดหมาย ให้ทุกสิ่งในจักรวาลเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปสู่จุดหมายนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ หากเป็นศาสนาคริสต์ สิ่งนั้นก็คือพระเจ้า เป็นต้น 2. สสารนิยม (Materialism) ชาวสสารนิยมเชื่อว่า สสารคือสิ่งเป็นจริงและเป็นสิ่งแท้จริง อันติมะ มีอยู่เป็นอยู่โดยตัวเอง เป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ความจริงหรือความมีอยู่จริงได้ ตามทัศนะของชาวสสารนิยม สิ่งแท้จริงคือสสารและปรากฏการณ์ของสสาร นอกจากนี้ไม่มีอะไรจริง ตัวอย่างทัศนะของปรัชญาจารวากเป็นแนวคิดแบบสสารนิยมคือ เห็นว่าสสารเท่านั้นเป็นสิ่งที่แท้จริง มีอยู่จริง มูลสาร (Substance) อันเป็นที่มาของสิ่งต่างๆ มี 4 เรียกว่า ธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ชาวสสารนิยมมองการเปลี่ยนแปลงของโลกสอดคล้องกับทัศนะแบบจักกลนิยมกล่าวคือ ทุกสิ่งเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร้จุดหมาย คือสิ่งต่างๆที่เราเห็นอยู่ขณะนี้และมองเห็นการเคลื่อนไหวของมัน เราอาจคิดว่าเป็นการเคลื่อนไหวของมันเอง แต่ในความเป็นจริงมันมิได้เคลื่อนไหวด้วยตัวมัน หากแต่ถูกผลักดันให้เคลื่อนไหวจากภายนอก เมื่อเป็นเช่นนั้น มันจึงไม่มีจุดหมายอะไร ส่วนการที่มันจะเป็นอะไรจะไปทิศทางใด ถูกกำหนดโดยตัวที่ผลักดันซึ่งเป็นสาเหตุหรือปัจจัยสำคัญ 3. ธรรมชาตินิยม (Naturalism) ชาวธรรมชาตินิยมมีความเชื่อส่วนหนึ่งคล้ายคลึงกับ สสารนิยม นั่นคือ สิ่งที่เป็นจริงคือสสาร แต่ธรรมชาตินิยมไม่ใช้คำว่า สสาร แต่ใช้คำว่า “สิ่งธรรมชาติ” ที่ไม่ใช้คำว่า สสาร ก็เพราะเห็นว่ามีความหมายแคบ แม้สสารทุกชิ้นจะอยู่ในระบบของ “อวกาศ-เวลา” แต่มิได้หมายความว่าสิ่งที่อยู่ในระบบอวกาศ-เวลาทุกสิ่งจะต้องเป็นสสาร คำว่า “อวกาศ-เวลา” จึงมีความหมายกว้าง และชาวธรรมชาตินิยมกล่าวว่าสิ่งธรรมชาติต้องเกิดขึ้นและดับลงโดยสาเหตุและสาเหตุนั้นต้องเป็นธรรมชาติด้วย ก็ถือว่าเป็นการยอมรับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ สสารนิยมและธรรมชาตินิยมต่างก็ยอมรับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ สสารนิยมจะให้ความสำคัญแก่วิทยาศาสตร์มาก แต่ธรรมชาตินิยมเห็นว่าวิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้ความจริงทั้งหมด มีความจริงบางอย่างที่วิทยาศาสตร์ไม่อาจอธิบายได้ (ทองหล่อ วงษ์ธรรมา, 2549, น. 90) ชาวธรรมชาตินิยมมองการเปลี่ยนแปลงของโลกสอดคล้องกับทัศนะแบบนวนิยมกล่าวคือ นวนิยมเชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด (Amergent Evolution) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในจักรวาลเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ผลิตสิ่งใหม่ขึ้น แตกต่างจากจักรกลนิยมตรงที่จักรกลนิยมเชื่อว่า สรรพสิ่งดำเนินไปภายใต้กฎเกณฑ์ที่แน่นอนอันใดอันหนึ่ง แต่ไม่ได้ก้าวกระโดดไปสู่สิ่งใหม่ เช่นเดียวกับนวนิยม ปัญหาธาตุแท้ของมนุษย์ ได้แก่ ประเด็นปัญหาว่าด้วยธาตุแท้หรือแก่นแท้ของมนุษย์ สามารถแยกเป็นทัศนะต่อปรัชญาได้ดังนี้ 1. จิตนิยม ชาวจิตนิยมเชื่อว่า ธาตุแท้ของมนุษย์คือวิญญาณ มนุษย์ประกอบด้วย ส่วนประกอบสองส่วนคือ ร่างกายและจิตใจ สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกาย คือสสาร เป็นสิ่งที่มีการเกิดเปลี่ยนแปลงและสลายไปตามกาลเวลา และสิ่งที่เรียกว่าจิต (Mind) หรือวิญญาณ (Soul) หรือจะเรียกอย่างอื่นเป็นสิ่งที่มิใช่สสารหรือวัตถุ แต่จะต้องเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของร่างกาย ชาวจิตนิยมเชื่อว่า จิตหรือวิญญาณเป็นอมตะ ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ ไม่สูญสลาย เพราะจิตเป็นสิ่งที่รู้คิด หรือจินตนาการ จิตเป็นผู้บังคับให้ทำตามที่คิดและจินตนาการ 2. สสารนิยม ชาวสสารนิยมเชื่อว่า มนุษย์คือเครื่องจักร มนุษย์มิใช่จิตหรือวิญญาณ โดย เห็นว่าธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์มีเพียงสสารหรือร่างกายเท่านั้น โทมัส ฮอบส์ นักปรัชญาสสารนิยมในปรัชญายุคใหม่มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นเครื่องจักรกลไปหมด แม้แต่ร่างกายของมนุษย์ เขาก็อธิบายเปรียบเทียบมันเหมือนกับเครื่องจักรที่ซับซ้อน เช่น ตา เปรียบเทียบได้กับกล้องถ่ายรูป ปอดเปรียบได้กับเครื่องสูบลม แขนเปรียบได้กับคานงัด เครื่องมือต่างๆหลายร้อยชิ้น ในร่างกายมนุษย์ ประสานงานกันด้วยระบบประสาทซึ่งเปรียบเสมือนสายโทรศัพท์ที่ติดต่อทั่วถึงกันหมด โดยมีจุดศูนย์กลางหรือสำนักงานใหญ่ที่สมอง ดังนั้น ร่างกายของมนุษย์ก็คือ เครื่องจักรกลแต่ละชิ้นที่สัมพันธ์กันอย่างละเอียดพิสดารและมีประสิทธิภาพสูง จิตของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน เป็นสสารละเอียดอ่อน มีที่ตั้งอยู่ที่สมอง และอยู่ภายใต้กฎแห่งการเคลื่อนไหวแบบกลไกเช่นกัน 3. ธรรมชาตินิยม ชาวธรรมชาตินิยมเชื่อว่า มนุษย์คือตัวเอง กล่าวคือ มนุษย์เป็นผลิตผล ของวิวัฒนาการอันเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นในจักรวาล มนุษย์มิใช่เป็นเพียงการรวมกันของสารเคมีเท่านั้น หากแต่มนุษย์ก็มีโลกของเขา มีคุณสมบัติอันเป็นของเขา เช่น การเรียนรู้ได้ รู้สึก มีอารมณ์ รู้รสของสุนทรียะ และรู้จักความดี ชาวธรรมชาตินิยมเชื่อว่า มนุษย์มีความสามารถและมีคุณสมบัติบางอย่างที่สัตว์อื่นไม่มี คุณสมบัติบางอย่างดังกล่าว เช่น มีสติปัญญาเรียนรู้ มีความฝัน มีแรงบันดาลใจ รู้จักศิลปะ มีสำนึกผิดชอบชั่วดี มีการวางแผนในอนาคต รู้จักว่ากำลังทำอะไรและเพื่ออะไร