พัฒนาการปรัชญาตะวันออก

พัฒนาการปรัชญาตะวันออก ปรัชญาอินเดียและปรัชญาจีนถือว่าเป็นกระแสธารสำคัญในปรัชญาตะวันออก ปรัชญาทั้งสองมีวัฒนธรรมและหลักคำสอนที่เก่าแก่ ซึ่งจะขอกล่าวปรัชญาที่สำคัญเพียงบางสำนักเท่านั้น ปรัชญาอินเดีย ปรัชญาอินเดียมีพัฒนาการความเชื่อสืบต่อกันมาโดยมีลำดับดังนี้ (พีระพล คดบัว, 2548, น. 14-17) 1. สมัยพระเวท พระเวทมีมาตั้งแต่เมื่อไร ไม่มีใครทราบ เท่าที่ทราบก็คือ ในหมู่อริยชน ในอินเดียดึกดำบรรพ์มีคำสอนอยู่ชุดหนึ่ง ซึ่งถือกันว่าได้รับมาจากพระเจ้า นักประวัติศาสตร์บางคนอ้างว่าชาวอินเดียเริ่มนับถือพระเวทมาตั้งแต่ประมาณ 4,500 มาแล้ว แต่บางคนก็บอกว่าพระเวทเริ่มอุบัติขึ้นประมาณ 3,000 ปีมานี่เอง อย่างไรก็ตาม พระเวทที่นับถือกันในตอนแรกนั้น เป็นเพียงคำพูดที่ท่องจำสืบต่อกันมาและเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ พระเวท หรือ เวทะ แปลว่าความรู้ แบ่งคัมภีร์ออกเป็น 4 หมวด คือ หมวดมนตรหรือมันตระ เป็นบทสวดสรรเสริญเทพ หมวดพราหมณะเป็นคำอธิบายของพราหมณ์ หมวดอารัณยกะเป็นคำอธิบายของฤาษีที่อยู่ตามป่า หมวดอุปนิษัทเป็นคำอธิบายของนักปรัชญา หมวดมนตร์ แบ่งออกเป็น 4 คัมภีร์ หรือเรียกตามศัพท์เดิมว่า สัมหิตา คือ 1.1 ฤคเวท หรือ ฤคสัมหิตา เป็นบทร้อยกรองที่เชื่อได้ว่าเก่าแก่ที่สุด สำหรับสวดสรรเสริญ เทพต่างๆ ที่ประจำอยู่ในธรรมชาติ อันได้แก่ อินทระ อัคนี สูรยะ วรุณะ วิษณุ อุษา ฯลฯ เทพเหล่านี้ต่างปฏิบัติหน้าที่เป็นอิสระ ไม่มีองค์ใดใหญ่กว่าองค์อื่นหรือปกครององค์อื่น เราเรียกลัทธิที่นับถือเทพหลายองค์เช่นนี้ว่าพหุเทวนิยม (Polytheism) ซึ่งต่อมากลายเป็นอติเทวนิยม (Henotheism) โดยการยกย่องเทพองค์หนึ่งเป็นใหญ่เหนือเทพองค์อื่น จะยกย่องเทพองค์ใดนั้นแล้วแต่ศรัทธา 1.2 ยชุรเวท หรือ ยชุรสัมหิตา แต่งเป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง กำหนดการปฏิบัติในพิธี บูชายัญ 1.3 สามเวท หรือ สามสัมหิตา เป็นบทเพลงสำหรับขับเสียงเสนาะในเวลาบูชายัญถวายเทพ เจ้าดังกล่าวมาข้างต้น 1.4 อาถรรพเวท หรือ อถรวสัมหิตา รวมคาถาเกี่ยวกับการปฏิบัติทางไสยศาสตร์ 2. สมัยสำนักปรัชญา หลังจากอุปนิษัทถือกันว่าวิวรณ์ (Revelation) หรือการเปิดเผยคำ สอนของพระเจ้าสิ้นสุดแล้ว ต่อจากนี้ไปนักปรัชญาจะต้องพยายามเข้าใจให้เป็นระบบปรัชญา ยุคนี้เป็นยุคทองของสำนักปรัชญาในอินเดีย ซึ่งมีอายุระหว่างประมาณ 200 ปีก่อนพุทธกาลจนถึงประมาณ 1,200 ปีหลังพุทธกาล สำนักที่สำคัญมีอยู่ 9 สำนัก แบ่งออกเป็นสองพวกคือ พวกที่ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท และพวกที่ไม่ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท แต่พยายามตั้งลัทธิปรัชญาขึ้นด้วยเหตุผลหยั่งรู้ของตนเอง 2.1 พวกที่ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท มี 6 สำนัก ได้แก่ 2.1.1 สางขยะ ค้นคว้าทางญาณวิทยา วิเคราะห์ความรู้ของมนุษย์อย่างละเอียด ผู้ ก่อตั้งสำนักมีนามว่ากบิล ลัทธินี้ภายหลังกลายเป็นลัทธิอเทวนิยม โดยได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาและศาสนาเซนเลิกนับถือคัมภีร์พระเวทและพยายามหาทางหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดด้วยปรัชญาของตน แต่ต่อมาภายหลัง วิชญาณภิกษุได้พยายามฟื้นฟูลัทธิสางขยะให้กลับเป็นเทวนิยมขึ้นใหม่ 2.1.2 โยคะ พยายามค้นคว้าทางหลุดพ้นโดยวิธีบำเพ็ญตบะและบำเพ็ญพรตอย่าง แรงกล้า จนได้รับความรู้ทางจิตวิทยามากมาย ผู้ก่อตั้งสำนัก ได้แก่ ปตัญชลี 2.1.3 นยายะ ค้นคว้าทางตรรกวิทยา เพื่อนำไปใช้ในการหาความรู้และตัดสิน ความรู้ ผู้ก่อตั้งสำนักมีนามว่า เคาตมะ หรือ โคตมะ 2.1.4 ไวเศษิกะ ค้นคว้าทางอภิปรัชญา พยายามเข้าใจความจริงในรูปแบบต่างๆ เพื่อ นำใช้ปฏิบัติในการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ก่อตั้งสำนักคือ กณาทะ 2.1.5 มีมามสา ถือพระเวทเป็นความจริงนิรันดร ต้องเชื่อตามตัวอักษร นักปราชญ์มี หน้าที่ชี้แจงว่าคนเราควรปฏิบัติตนอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ จึงจะถูกต้องตามพระประสงค์ของพระเจ้า ไชมินิ เป็นผู้ก่อตั้งสำนัก 2.1.6 เวทานตะ ค้นคว้าเรื่องปรมาตมัน หรือ พรหมัน เพราะเชื่อว่าเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง นักปราชญ์ที่สำคัญของลัทธิได้แก่ เคาฑปาทะ ศังกราจารย์ และรามานุชะ 2.2 พวกที่ไม่ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท แต่ถือว่าเป็นตำรับความรู้ธรรมดา ต้องค้นคว้ากันต่อไปจนได้รับความรู้ที่น่าพอใจ แบ่งออกเป็นลัทธิที่สำคัญ 3 ลัทธิด้วยกัน คือ 2.2.1 จารวาก เป็นลัทธิสสารนิยมอย่างสมบูรณ์ ดังคำบรรยายลัทธินี้ในหนังสือ สรรพทรรศนสังคหะว่า “ไม่มีสวรรค์ ไม่มีความหลุดพ้น ไม่มีวิญญาณใดๆ อยู่ในโลกอื่น ไม่มีการกระทำหรือกรรมของใครในวรรณะทั้งสี่ที่จะก่อให้เกิดผล การบูชาไฟ พระเวททั้งสาม การร่างมนต์ของพวกนักบวช และการทาตัวด้วยขี้เถ้า เป็นอุบายวิธีหาเลี้ยงชีพของพวกคนโง่และไร้ยางอาย ถ้าหากว่าสัตว์ที่ถูกฆ่าในพิธีบูชายันต์ได้ไปเกิดในสวรรค์จริงแล้ว ไฉนผู้ประกอบพิธีบูชายัญไม่เอาบิดามารดาของตนมาฆ่าบูชายัญเช่นนั้นบ้างเล่า ควรแสวงหาความสุขเสียตั้งแต่ในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นจากการรวมของธาตุ 4 และดับสูญไปโดยการแยกตัวของธาตุ 4 ความเป็นจริงที่แท้จึงมีแต่ธาตุ 4 เท่านั้น 2.2.2 พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก่อตั้งลัทธิที่เน้นให้ศึกษาค้นคว้าให้เข้าใจอริยสัจ 4 เพื่อผลแห่งการหลุดพ้นจากสังสารวัฏโดยตนเอง “ตนของตนเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง” 2.2.3 ศาสนาเชน เป็นปรัชญาแบบประสบการณ์นิยม เชื่อความรู้ทางผัสสะคือเชื่อ ทุกสิ่งทุกย่างมีอยู่จริงตามผัสสะของเรา สอนการหลุดพ้นจากกิเลส โดยยึดหลัก 3 ประการคือ 1) สัมมนาทัสสนะ ได้แก่ ความเชื่อมั่นในคำสอนของศาสดาในศาสนาเชน อย่างแท้จริง 2) สัมมาญาณะ ได้แก่ การมีความรู้อย่างแท้จริงในคำสอนของศาสดา 3) สัมมาจาริตตะ ได้แก่ การประพฤติตนให้ถูกต้องตามคำแนะนำของศาสดา คุณธรรมที่ลัทธินี้เน้นเป็นพิเศษได้แก่ การมีอหิงสา หรือการไม่เบียดเบียนต่อสัตว์ทุกชนิด และการมีใจอุเบกขา ต่อการดำรงชีพอย่างแท้จริง ปรัชญาจีน ขงจื้อ (Confucius หรือ K’ung Tzu) เป็นนักปรัชญาที่จัดว่ามีชื่อเสียงที่สุดของจีน ปรัชญาของขงจื้อมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของชาวจีนมากที่สุด ขงจื้อได้จัดความสัมพันธ์ขั้นมูลฐานของมนุษย์ไว้ 5 ประการ และแนะนำหลักจริยธรรมสำหรับการปฏิบัติให้สอดคล้องเหมาะสมกับความสัมพันธ์นั้นๆ ดังนี้ 1. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง ประกอบด้วยความเมตตา ความ สุจริตและความจงรักภักดี กล่าวคือ กษัตริย์และรัฐบาลควรปฏิบัติต่อขุนนางและประชาชนด้วยความเมตตาและความซื่อสัตย์สุจริต ขุนนางและประชาชนก็ควรมีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์และรัฐบาล 2. ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา ประกอบด้วยความเมตตาและความ กตัญญูกตเวที กล่าวคือ บิดามารดาพึงมีเมตตาต่อบุตรธิดา ในขณะที่บุตรธิดาก็ต้องมีความกตัญญูกตเวทีรู้จักตอบแทนพระคุณของบิดามารดา 3. ความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา ประกอบด้วยความรัก ความซื่อสัตย์ และความ รับผิดชอบในหน้าที่ของตนหมายความว่า สามีภรรยาพึงมีความรักด้วยความซื่อตรงต่อกัน ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสามีหรือภรรยาอย่างถูกต้อง 4. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่หรือระหว่างญาติพี่น้อง ประกอบด้วยความ สามัคคีและความเคารพหมายความว่า ญาติพี่น้องควรรักใคร่สามัคคีปรองดองกัน ผู้มีอาวุโสน้อยกว่าควรให้ความยำเกรงผู้อาวุโสกว่า ส่วนผู้มีอาวุโสมากกว่าก็ให้เกียรติแก่ผู้มีอาวุโสน้อยกว่า 5. ความสัมพันธ์ระหว่างมิตรสหาย ประกอบด้วยความจริงใจ หมายความว่าควรมีความ รักและความปรารถนาดีอย่างจริงใจต่อเพื่อน ต่างฝ่ายต่างต้องทำตัวให้น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ จากที่กล่าวมา ถ้าบุคคลปฏิบัติตามหลักจริยธรรมดังกล่าวแล้วจะทำให้สังคมเกิดความ สงบสุข นอกจากการปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้แล้ว ปัจเจกชนแต่ละคนจะต้องทำหน้าที่อื่นๆตามฐานะหรือสถานภาพที่ตนมีอยู่เป็นอยู่ ซึ่งในเรื่องนี้เราอาจแบ่งจริยธรรมออกเป็นสองกลุ่มคือ 1. จริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ บุคคลแต่ละคนมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับ ตำแหน่งหน้าที่การงานหรือสถานภาพที่ตนเองมีอยู่ จริยธรรมนี้เรียกว่า เจียเมี้ย ได้แก่การปฏิบัติให้ถูกต้องกับสถานภาพที่ชื่อบ่งถึง (Rectification of names) เช่น กษัตริย์ ครู ตำรวจ โดยชื่อบ่งถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องกระทำให้สมกับตำแหน่งหรือฐานะอันนั้น 2. จริยธรรมพื้นฐานหรือจริยธรรมเพื่อพัฒนาตน เป็นหลักปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตใจและ พฤติกรรมที่ดีงามของมนุษย์ได้แก่ 1.1 ยิ้น หรือ เหยิน (Jen) หมายถึงมนุษยธรรม ความมีจิตใจเป็นมนุษย์ ความเป็น มนุษย์ที่แท้จริง หรือความรักความเมตตา ซึ่งขงจื้อเห็นว่าเป็นคุณธรรมที่สำคัญที่สุดหรือเป็นคุณธรรมที่สมบูรณ์ 1.2 เซี่ยว และ ตี่ (Hsiao and Ti) หมายถึงความรักในบิดามารดาและความรักฉันท์พี่ น้อง จัดเป็นเหตุผลมูลฐานของความรักที่มนุษย์มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ขงจื้อเห็นว่าครอบครัวเป็นหน่วยแรกที่อำนวยโอกาสให้มนุษย์สามารถฝึกคุณธรรม “ยิ้น” ได้เป็นอย่างดี 1.3 ตง สู่ หรือ จุง สู่ (Chung Shu) หมายถึงความซื่อสัตย์และการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือการรู้จักเห็นอกเห็นใจ เป็นคุณธรรมหรือหลักปฏิบัติเกื้อหนุนหรือมาคู่กับยิ้น ตงหมายถึงความจงรักภักดี เป็นความซื่อสัตย์สุจริต ส่วนสู่หมายถึงการรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เรารู้จักรักสุข เกลียดทุกข์เช่นใด คนอื่นก็รู้จักเช่นนั้นเหมือนกัน 1.4 ยี่ (Yi) หรือ อี่ (I) หมายถึงความชอบธรรมหรือความถูกต้อง ซึ่งก็คือการกระทำดี เพื่อความดี กระทำในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องหรือควรทำโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนหรือเพราะถูกบังคับแต่อย่างใด 1.5 หลี่ (Li) หรือมารยาทและจารีตประเพณี เหลาจื้อ (Lao Tzu) เป็นนักปรัชญาจีนที่สอนให้เราดำเนินชีวิตคล้อยตามกฎธรรมชาติ ทั้งนี้ท่านไม่เห็นด้วยกับศีลธรรมที่เป็นการบัญญัติหรือสร้างขึ้น คำสอนที่ถือว่าเป็นแกนกลางหรือเป็นทางแห่งการดำรงชีวิตที่สำคัญคือ “หวู-เว่ย” (Wu Wei) ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า Having-no-activity หรือ Non-action พอจะแปลได้ว่า หลักอกรรม คือการกระทำโดยไม่กระทำ แต่มิใช่หมายถึงไม่ทำอะไรเลย เช่น ในห้องเรียนคุยกันเสียงดัง อาจารย์สั่งให้นักศึกษาเงียบ ถ้านักศึกษาบอกต่อๆกันว่า เงียบ แล้วนั้น ความเงียบย่อมเกิดขึ้นมิได้ แต่เมื่อนักศึกษาหยุดพูด นั่นแหล่ะความเงียบจึงเกิดขึ้น ซึ่งหลักคำสอนนี้จัดได้ว่าเป็นแบบธรรมชาตินิยม ที่ต้องการให้คนดำเนินตามหลักธรรมชาติ อย่าฝืนธรรมชาติ พอจะสรุปได้ดังนี้ 1. มีชีวิตที่เรียบง่ายโดยถือหลักความรู้จักพอหรือสันโดษ 2. ดำรงตามหลักปัญญาญาณ (Practicing Enlightenment) อันได้แก่ 2.1 เข้าใจกฎความจริงโดยธรรมชาติ 2.2 เข้าใจตนเอง 2.3 รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม 3. ให้มองเห็นจุดดีในสิ่งที่คนอื่นเห็นว่าเลว นั่นคือเป็นคนมองอะไรหลายๆด้าน 4. มีความรู้เพียงแต่น้อยและเป็นนายของความรู้ 5. มีเต๋าเป็นอุดมคติ ส่วนหลักจริยธรรมโดยสรุปที่เหลาจื้อเองถือว่าเป็นหนทางนำไปสู่เต๋าและตนเอง ยึดถือเป็นหลักชีวิตเสมอมามีอยู่สามประการคือ ความเมตตากรุณา ความเรียบง่ายสมถะ และความสุภาพอ่อนโยน