อุดมคติของชีวิต (ต่อ)  ลัทธิอสุขนิยมเห็นว่า ความสุขไม่ใช่สิ่งดีที่สุดของชีวิต มีสิ่งอื่นที่มีค่ามากกว่า เช่น ความสงบทางจิตหรือปัญญาความรู้ ได้แก่  ปัญญานิยมเห็นว่า ความรู้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์พึงแสวงหา นักปัญญานิยม ได้แก่ โสเกรตีส เพลโต อริสโตเติล ในทางปรัชญา เห็นว่าคุณสมบัติเฉพาะที่ทำให้สิ่งๆ หนึ่งแตกต่างจากสิ่งอื่นๆ ในประเภทเดียวกันนั้น คือ สาระ หรือสารัตถะ (Essence) ของสิ่งนั้นๆ สาระของความเป็นมนุษย์ก็คือการใช้ความคิด เหตุผล การใช้สติปัญญา และการแสวงหาความรู้  วิมุตินิยมเห็นว่า เป้าหมายของชีวิตคือความสงบจิต สอนให้มองสรรพสิ่งภายใต้กฎธรรมชาติ เช่น ความแก่ชรา แตกสลายหรือเน่าเสีย เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นวิถีชีวิตที่มุ่งสละโลก ใช้ชีวิตเรียบง่าย  วิมุตินิยมแบ่งออกเป็น 2 ลัทธิด้วยกันคือ ซินนิค เกิดจากลักษณะเบื่อหน่ายสังคม ดำเนินชีวิตเรียบง่าย ชีวิตเรียบง่ายเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง ไม่ได้เป็นวิถี (means) ไปสู่สิ่งใด ดำเนินชีวิตที่มีลักษณะหนี (negative) มากกว่าลักษณะเข้า (positive) และสโตอิค เชื่ออำนาจปัญญาของมนุษย์ ในการเข้าใจความจริงของกฎธรรมชาติ มนุษย์ควรเอาชนะใจตนเอง และควรฝึกฝนคุณธรรม 3 ประการ คือ ความอดทน ต่อความเจ็บปวด หรือความขัดแย้ง ความอดกลั้น เมื่อพบสิ่งยั่วยวนใจ และความยุติธรรมเมื่อสมาคมกับผู้อื่น สอนให้ช่วยเหลือผู้อื่นตามความสามารถของตน  อัตถิภาวนิยม ฌอง ปอล ซาร์ตร์ บิดาปรัชญาอัตถิภาวนิยมกล่าวว่า “มนุษย์คือเสรีภาพ (Man is Free)”ตระหนักถึงเสรีภาพ ทุกการกระทำเกิดจากการตัดสินใจเลือกของเราเอง ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม ค่านิยมของสังคม เป็นต้น แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่จำกัดเสรีภาพของมนุษย์คือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง อัตถิภาวนิยมสอนว่า จงจริงใจกับตัวเอง อย่าหลอกตัวเอง (Bad Faith) เพื่อปัดความรับผิดชอบ การกระทำที่มีคุณค่าเกิดจากการใช้เสรีภาพในการเลือกและรับผิดชอบต่อผลของการกระทำ  มนุษยนิยมเห็นว่ามนุษย์มีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ให้ความสำคัญกับร่างกายกับจิตใจ จุดหมายของชีวิตคือการได้ลิ้มรสสิ่งที่มีค่าต่างๆอย่างทั่วถึงและประสมกลมกลืนกัน (ได้แก่ ความสุขทางกาย ความสงบทางใจ การชื่นชมงานศิลปะ การใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพ เป็นต้น)  บรรณานุกรม  วิศท์ วิศทเวทย์. จริยศาสตร์เบื้องต้น. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2539.  วรรณวิสาข์ ไชยโย. มนุษย์กับปรัชญา. เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554. ---------------------------------------------