พัฒนาการปรัชญาตะวันออก

พัฒนาการปรัชญาตะวันออก ปรัชญาอินเดียและปรัชญาจีนถือว่าเป็นกระแสธารสำคัญในปรัชญาตะวันออก ปรัชญาทั้งสองมีวัฒนธรรมและหลักคำสอนที่เก่าแก่ ซึ่งจะขอกล่าวปรัชญาที่สำคัญเพียงบางสำนักเท่านั้น ปรัชญาอินเดีย ปรัชญาอินเดียมีพัฒนาการความเชื่อสืบต่อกันมาโดยมีลำดับดังนี้ (พีระพล คดบัว, 2548, น. 14-17) 1. สมัยพระเวท พระเวทมีมาตั้งแต่เมื่อไร ไม่มีใครทราบ เท่าที่ทราบก็คือ ในหมู่อริยชน ในอินเดียดึกดำบรรพ์มีคำสอนอยู่ชุดหนึ่ง ซึ่งถือกันว่าได้รับมาจากพระเจ้า นักประวัติศาสตร์บางคนอ้างว่าชาวอินเดียเริ่มนับถือพระเวทมาตั้งแต่ประมาณ 4,500 มาแล้ว แต่บางคนก็บอกว่าพระเวทเริ่มอุบัติขึ้นประมาณ 3,000 ปีมานี่เอง อย่างไรก็ตาม พระเวทที่นับถือกันในตอนแรกนั้น เป็นเพียงคำพูดที่ท่องจำสืบต่อกันมาและเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ พระเวท หรือ เวทะ แปลว่าความรู้ แบ่งคัมภีร์ออกเป็น 4 หมวด คือ หมวดมนตรหรือมันตระ เป็นบทสวดสรรเสริญเทพ หมวดพราหมณะเป็นคำอธิบายของพราหมณ์ หมวดอารัณยกะเป็นคำอธิบายของฤาษีที่อยู่ตามป่า หมวดอุปนิษัทเป็นคำอธิบายของนักปรัชญา หมวดมนตร์ แบ่งออกเป็น 4 คัมภีร์ หรือเรียกตามศัพท์เดิมว่า สัมหิตา คือ 1.1 ฤคเวท หรือ ฤคสัมหิตา เป็นบทร้อยกรองที่เชื่อได้ว่าเก่าแก่ที่สุด สำหรับสวดสรรเสริญ เทพต่างๆ ที่ประจำอยู่ในธรรมชาติ อันได้แก่ อินทระ อัคนี สูรยะ วรุณะ วิษณุ อุษา ฯลฯ เทพเหล่านี้ต่างปฏิบัติหน้าที่เป็นอิสระ ไม่มีองค์ใดใหญ่กว่าองค์อื่นหรือปกครององค์อื่น เราเรียกลัทธิที่นับถือเทพหลายองค์เช่นนี้ว่าพหุเทวนิยม (Polytheism) ซึ่งต่อมากลายเป็นอติเทวนิยม (Henotheism) โดยการยกย่องเทพองค์หนึ่งเป็นใหญ่เหนือเทพองค์อื่น จะยกย่องเทพองค์ใดนั้นแล้วแต่ศรัทธา 1.2 ยชุรเวท หรือ ยชุรสัมหิตา แต่งเป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง กำหนดการปฏิบัติในพิธี บูชายัญ 1.3 สามเวท หรือ สามสัมหิตา เป็นบทเพลงสำหรับขับเสียงเสนาะในเวลาบูชายัญถวายเทพ เจ้าดังกล่าวมาข้างต้น 1.4 อาถรรพเวท หรือ อถรวสัมหิตา รวมคาถาเกี่ยวกับการปฏิบัติทางไสยศาสตร์ 2. สมัยสำนักปรัชญา หลังจากอุปนิษัทถือกันว่าวิวรณ์ (Revelation) หรือการเปิดเผยคำ สอนของพระเจ้าสิ้นสุดแล้ว ต่อจากนี้ไปนักปรัชญาจะต้องพยายามเข้าใจให้เป็นระบบปรัชญา ยุคนี้เป็นยุคทองของสำนักปรัชญาในอินเดีย ซึ่งมีอายุระหว่างประมาณ 200 ปีก่อนพุทธกาลจนถึงประมาณ 1,200 ปีหลังพุทธกาล สำนักที่สำคัญมีอยู่ 9 สำนัก แบ่งออกเป็นสองพวกคือ พวกที่ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท และพวกที่ไม่ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท แต่พยายามตั้งลัทธิปรัชญาขึ้นด้วยเหตุผลหยั่งรู้ของตนเอง 2.1 พวกที่ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท มี 6 สำนัก ได้แก่ 2.1.1 สางขยะ ค้นคว้าทางญาณวิทยา วิเคราะห์ความรู้ของมนุษย์อย่างละเอียด ผู้ ก่อตั้งสำนักมีนามว่ากบิล ลัทธินี้ภายหลังกลายเป็นลัทธิอเทวนิยม โดยได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาและศาสนาเซนเลิกนับถือคัมภีร์พระเวทและพยายามหาทางหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดด้วยปรัชญาของตน แต่ต่อมาภายหลัง วิชญาณภิกษุได้พยายามฟื้นฟูลัทธิสางขยะให้กลับเป็นเทวนิยมขึ้นใหม่ 2.1.2 โยคะ พยายามค้นคว้าทางหลุดพ้นโดยวิธีบำเพ็ญตบะและบำเพ็ญพรตอย่าง แรงกล้า จนได้รับความรู้ทางจิตวิทยามากมาย ผู้ก่อตั้งสำนัก ได้แก่ ปตัญชลี 2.1.3 นยายะ ค้นคว้าทางตรรกวิทยา เพื่อนำไปใช้ในการหาความรู้และตัดสิน ความรู้ ผู้ก่อตั้งสำนักมีนามว่า เคาตมะ หรือ โคตมะ 2.1.4 ไวเศษิกะ ค้นคว้าทางอภิปรัชญา พยายามเข้าใจความจริงในรูปแบบต่างๆ เพื่อ นำใช้ปฏิบัติในการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ก่อตั้งสำนักคือ กณาทะ 2.1.5 มีมามสา ถือพระเวทเป็นความจริงนิรันดร ต้องเชื่อตามตัวอักษร นักปราชญ์มี หน้าที่ชี้แจงว่าคนเราควรปฏิบัติตนอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ จึงจะถูกต้องตามพระประสงค์ของพระเจ้า ไชมินิ เป็นผู้ก่อตั้งสำนัก 2.1.6 เวทานตะ ค้นคว้าเรื่องปรมาตมัน หรือ พรหมัน เพราะเชื่อว่าเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง นักปราชญ์ที่สำคัญของลัทธิได้แก่ เคาฑปาทะ ศังกราจารย์ และรามานุชะ 2.2 พวกที่ไม่ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท แต่ถือว่าเป็นตำรับความรู้ธรรมดา ต้องค้นคว้ากันต่อไปจนได้รับความรู้ที่น่าพอใจ แบ่งออกเป็นลัทธิที่สำคัญ 3 ลัทธิด้วยกัน คือ 2.2.1 จารวาก เป็นลัทธิสสารนิยมอย่างสมบูรณ์ ดังคำบรรยายลัทธินี้ในหนังสือ สรรพทรรศนสังคหะว่า “ไม่มีสวรรค์ ไม่มีความหลุดพ้น ไม่มีวิญญาณใดๆ อยู่ในโลกอื่น ไม่มีการกระทำหรือกรรมของใครในวรรณะทั้งสี่ที่จะก่อให้เกิดผล การบูชาไฟ พระเวททั้งสาม การร่างมนต์ของพวกนักบวช และการทาตัวด้วยขี้เถ้า เป็นอุบายวิธีหาเลี้ยงชีพของพวกคนโง่และไร้ยางอาย ถ้าหากว่าสัตว์ที่ถูกฆ่าในพิธีบูชายันต์ได้ไปเกิดในสวรรค์จริงแล้ว ไฉนผู้ประกอบพิธีบูชายัญไม่เอาบิดามารดาของตนมาฆ่าบูชายัญเช่นนั้นบ้างเล่า ควรแสวงหาความสุขเสียตั้งแต่ในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นจากการรวมของธาตุ 4 และดับสูญไปโดยการแยกตัวของธาตุ 4 ความเป็นจริงที่แท้จึงมีแต่ธาตุ 4 เท่านั้น 2.2.2 พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก่อตั้งลัทธิที่เน้นให้ศึกษาค้นคว้าให้เข้าใจอริยสัจ 4 เพื่อผลแห่งการหลุดพ้นจากสังสารวัฏโดยตนเอง “ตนของตนเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง” 2.2.3 ศาสนาเชน เป็นปรัชญาแบบประสบการณ์นิยม เชื่อความรู้ทางผัสสะคือเชื่อ ทุกสิ่งทุกย่างมีอยู่จริงตามผัสสะของเรา สอนการหลุดพ้นจากกิเลส โดยยึดหลัก 3 ประการคือ 1) สัมมนาทัสสนะ ได้แก่ ความเชื่อมั่นในคำสอนของศาสดาในศาสนาเชน อย่างแท้จริง 2) สัมมาญาณะ ได้แก่ การมีความรู้อย่างแท้จริงในคำสอนของศาสดา 3) สัมมาจาริตตะ ได้แก่ การประพฤติตนให้ถูกต้องตามคำแนะนำของศาสดา คุณธรรมที่ลัทธินี้เน้นเป็นพิเศษได้แก่ การมีอหิงสา หรือการไม่เบียดเบียนต่อสัตว์ทุกชนิด และการมีใจอุเบกขา ต่อการดำรงชีพอย่างแท้จริง ปรัชญาจีน ขงจื้อ (Confucius หรือ K’ung Tzu) เป็นนักปรัชญาที่จัดว่ามีชื่อเสียงที่สุดของจีน ปรัชญาของขงจื้อมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของชาวจีนมากที่สุด ขงจื้อได้จัดความสัมพันธ์ขั้นมูลฐานของมนุษย์ไว้ 5 ประการ และแนะนำหลักจริยธรรมสำหรับการปฏิบัติให้สอดคล้องเหมาะสมกับความสัมพันธ์นั้นๆ ดังนี้ 1. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง ประกอบด้วยความเมตตา ความ สุจริตและความจงรักภักดี กล่าวคือ กษัตริย์และรัฐบาลควรปฏิบัติต่อขุนนางและประชาชนด้วยความเมตตาและความซื่อสัตย์สุจริต ขุนนางและประชาชนก็ควรมีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์และรัฐบาล 2. ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา ประกอบด้วยความเมตตาและความ กตัญญูกตเวที กล่าวคือ บิดามารดาพึงมีเมตตาต่อบุตรธิดา ในขณะที่บุตรธิดาก็ต้องมีความกตัญญูกตเวทีรู้จักตอบแทนพระคุณของบิดามารดา 3. ความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา ประกอบด้วยความรัก ความซื่อสัตย์ และความ รับผิดชอบในหน้าที่ของตนหมายความว่า สามีภรรยาพึงมีความรักด้วยความซื่อตรงต่อกัน ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสามีหรือภรรยาอย่างถูกต้อง 4. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่หรือระหว่างญาติพี่น้อง ประกอบด้วยความ สามัคคีและความเคารพหมายความว่า ญาติพี่น้องควรรักใคร่สามัคคีปรองดองกัน ผู้มีอาวุโสน้อยกว่าควรให้ความยำเกรงผู้อาวุโสกว่า ส่วนผู้มีอาวุโสมากกว่าก็ให้เกียรติแก่ผู้มีอาวุโสน้อยกว่า 5. ความสัมพันธ์ระหว่างมิตรสหาย ประกอบด้วยความจริงใจ หมายความว่าควรมีความ รักและความปรารถนาดีอย่างจริงใจต่อเพื่อน ต่างฝ่ายต่างต้องทำตัวให้น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ จากที่กล่าวมา ถ้าบุคคลปฏิบัติตามหลักจริยธรรมดังกล่าวแล้วจะทำให้สังคมเกิดความ สงบสุข นอกจากการปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้แล้ว ปัจเจกชนแต่ละคนจะต้องทำหน้าที่อื่นๆตามฐานะหรือสถานภาพที่ตนมีอยู่เป็นอยู่ ซึ่งในเรื่องนี้เราอาจแบ่งจริยธรรมออกเป็นสองกลุ่มคือ 1. จริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ บุคคลแต่ละคนมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับ ตำแหน่งหน้าที่การงานหรือสถานภาพที่ตนเองมีอยู่ จริยธรรมนี้เรียกว่า เจียเมี้ย ได้แก่การปฏิบัติให้ถูกต้องกับสถานภาพที่ชื่อบ่งถึง (Rectification of names) เช่น กษัตริย์ ครู ตำรวจ โดยชื่อบ่งถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องกระทำให้สมกับตำแหน่งหรือฐานะอันนั้น 2. จริยธรรมพื้นฐานหรือจริยธรรมเพื่อพัฒนาตน เป็นหลักปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตใจและ พฤติกรรมที่ดีงามของมนุษย์ได้แก่ 1.1 ยิ้น หรือ เหยิน (Jen) หมายถึงมนุษยธรรม ความมีจิตใจเป็นมนุษย์ ความเป็น มนุษย์ที่แท้จริง หรือความรักความเมตตา ซึ่งขงจื้อเห็นว่าเป็นคุณธรรมที่สำคัญที่สุดหรือเป็นคุณธรรมที่สมบูรณ์ 1.2 เซี่ยว และ ตี่ (Hsiao and Ti) หมายถึงความรักในบิดามารดาและความรักฉันท์พี่ น้อง จัดเป็นเหตุผลมูลฐานของความรักที่มนุษย์มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ขงจื้อเห็นว่าครอบครัวเป็นหน่วยแรกที่อำนวยโอกาสให้มนุษย์สามารถฝึกคุณธรรม “ยิ้น” ได้เป็นอย่างดี 1.3 ตง สู่ หรือ จุง สู่ (Chung Shu) หมายถึงความซื่อสัตย์และการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือการรู้จักเห็นอกเห็นใจ เป็นคุณธรรมหรือหลักปฏิบัติเกื้อหนุนหรือมาคู่กับยิ้น ตงหมายถึงความจงรักภักดี เป็นความซื่อสัตย์สุจริต ส่วนสู่หมายถึงการรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เรารู้จักรักสุข เกลียดทุกข์เช่นใด คนอื่นก็รู้จักเช่นนั้นเหมือนกัน 1.4 ยี่ (Yi) หรือ อี่ (I) หมายถึงความชอบธรรมหรือความถูกต้อง ซึ่งก็คือการกระทำดี เพื่อความดี กระทำในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องหรือควรทำโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนหรือเพราะถูกบังคับแต่อย่างใด 1.5 หลี่ (Li) หรือมารยาทและจารีตประเพณี เหลาจื้อ (Lao Tzu) เป็นนักปรัชญาจีนที่สอนให้เราดำเนินชีวิตคล้อยตามกฎธรรมชาติ ทั้งนี้ท่านไม่เห็นด้วยกับศีลธรรมที่เป็นการบัญญัติหรือสร้างขึ้น คำสอนที่ถือว่าเป็นแกนกลางหรือเป็นทางแห่งการดำรงชีวิตที่สำคัญคือ “หวู-เว่ย” (Wu Wei) ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า Having-no-activity หรือ Non-action พอจะแปลได้ว่า หลักอกรรม คือการกระทำโดยไม่กระทำ แต่มิใช่หมายถึงไม่ทำอะไรเลย เช่น ในห้องเรียนคุยกันเสียงดัง อาจารย์สั่งให้นักศึกษาเงียบ ถ้านักศึกษาบอกต่อๆกันว่า เงียบ แล้วนั้น ความเงียบย่อมเกิดขึ้นมิได้ แต่เมื่อนักศึกษาหยุดพูด นั่นแหล่ะความเงียบจึงเกิดขึ้น ซึ่งหลักคำสอนนี้จัดได้ว่าเป็นแบบธรรมชาตินิยม ที่ต้องการให้คนดำเนินตามหลักธรรมชาติ อย่าฝืนธรรมชาติ พอจะสรุปได้ดังนี้ 1. มีชีวิตที่เรียบง่ายโดยถือหลักความรู้จักพอหรือสันโดษ 2. ดำรงตามหลักปัญญาญาณ (Practicing Enlightenment) อันได้แก่ 2.1 เข้าใจกฎความจริงโดยธรรมชาติ 2.2 เข้าใจตนเอง 2.3 รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม 3. ให้มองเห็นจุดดีในสิ่งที่คนอื่นเห็นว่าเลว นั่นคือเป็นคนมองอะไรหลายๆด้าน 4. มีความรู้เพียงแต่น้อยและเป็นนายของความรู้ 5. มีเต๋าเป็นอุดมคติ ส่วนหลักจริยธรรมโดยสรุปที่เหลาจื้อเองถือว่าเป็นหนทางนำไปสู่เต๋าและตนเอง ยึดถือเป็นหลักชีวิตเสมอมามีอยู่สามประการคือ ความเมตตากรุณา ความเรียบง่ายสมถะ และความสุภาพอ่อนโยน

พัฒนาการปรัชญาตะวันตก

พัฒนาการปรัชญาตะวันตก มนุษย์เป็นสัตว์ใช้เหตุผล ดังจะเห็นจากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมีการใช้เหตุผลแสวงหาความรู้กันมาตลอด ซึ่งเรื่องที่มนุษย์สนใจแตกต่างกันไปตามสภาพสังคมของแต่ละสมัย ยุคโบราณ แนวคิดทางปรัชญาเริ่มจากการคิดค้นของชาวกรีก โลกตะวันตกถือว่าประชาชนที่รวมกันขึ้นเป็นรัฐอย่างมั่นคงและมีระเบียบแบบแผนจะเริ่มที่กรีกก่อน นครรัฐของกรีกเป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่บนดินแดนที่ล้อมรอบด้วยทะเลอีเจียน ศูนย์ทางวัฒนธรรมของกรีก คือกรุงเอเธนส์ นครรัฐของกรีก เจริญถึงขีดสุดในช่วงระหว่าง 600-400 ปีก่อนคริสตกาล ในช่วงนี้เองที่คนกรีกได้คิดค้นและสร้างปรัชญาขึ้นมา ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปรัชญาตะวันตก ยุคกรีกแบ่งออกเป็น 2 ยุคย่อยๆ ดังนี้ ก.ปรัชญากรีกยุคเริ่มแรก นักปรัชญากรีกมุ่งแสวงหาความจริงเกี่ยวกับต้นกำเนิดของสิ่งทั้งปวงหรือปฐมธาตุของโลก ดังนี้ ธาเลส (Thales, 624-548 ก่อนคริสตกาล) นักปรัชญาที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งปรัชญาตะวันตกยุคโบราณ” เป็นผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญาที่มีชื่อว่า “สำนักไอโอนิค” และเป็นผู้ที่คิดค้นหาปฐมธาตุของโลก เขาได้รับคำตอบต่อเรื่องนี้ว่า สิ่งที่เป็นปฐมธาตุของโลกหรือสรรพสิ่ง คือ “น้ำ” สรรพสิ่งถือกำเนิดมาจากน้ำและจะกลับคืนสู่น้ำในที่สุด อแนกซิแมนเดอร์ (Anaximander, 610-545 ก่อนคริสตกาล) ปฐมธาตุของโลกคือ อนันต์ (Infinite) เป็นสสารไร้รูปคือ ตัวมันเองยังไม่เป็นอะไรเลยและพร้อมที่จะเป็นสิ่งอื่นได้ทุกเมื่อ อแนกซิเมเนส (Anaximenes, 588-528 ก่อนคริสตกาล) ปฐมธาตุของโลกคือ อากาศ (Air) เพราะอากาศแผ่ขยายออกไปไม่มีที่สิ้นสุดและมีพลังขับเคลื่อนในตัวเอง โดยอธิบายว่า ในเวลาที่อากาศเคลื่อนตัวออกห่างจากกันและกัน อากาศขยายตัว ปริมาณของอากาศจะเจือจาง หากเจือจางถึงขีด อากาศจะกลายเป็นไฟ และลูกไฟก็กลายเป็นดวงดาวในท้องฟ้า ในทำนองกลับกัน ถ้าอากาศเคลื่อนเข้ารวมกันหรือมีการกลั่นตัว (Condersation) ความเข้มข้นของอากาศมีมาก อุณหภูมิของอากาศมีมาก อุณหภูมิของอากาศลดลง อากาศจะมีความเย็นมากขึ้นแล้วจับตัวเป็นก้อนเมฆ ถ้ายิ่งกลั่นตัวควบแน่นยิ่งขึ้น อากาศจะกลายเป็นน้ำแล้วกลายเป็นดินและหินได้ทีเดียว พิธากอรัส (Pythagoras, 582-517 ก่อนคริสตกาล) ปฐมธาตุของโลกคือ หน่วย (Unit) สิ่งทั้งหลายซึ่งรวมถึงจำนวนเลขเกิดมาจากหน่วย หน่วยหรือจุดรวมตัวกันทำให้เกิดเส้น เส้นรวมตัวกันทำให้เกิดเนื้อที่ เนื้อที่รวมตัวกันทำให้เกิดปริมาตร เฮราคลิตุส (Heraclitus, 535-475 ก่อนคริสตกาล) ปฐมธาตุของโลกคือ ไฟ เพราะไฟแปรรูปเป็นสรรพสิ่ง โดยระยะแรก ไฟแปรรูปเป็นลม จากลมเป็นน้ำ จากน้ำเป็นดิน นี่คือการแปรรูปทางลง (Downward Path) นอกจากนั้นดินอาจแปรรูปเป็นพลังเป็นน้ำ จากน้ำเป็นลม จากลมเป็นไฟ เป็นการแปรรูปทางขึ้น (Upward Path) ปรัชญากรีกยุครุ่งเรือง กรีกยุคหลังเริ่มต้นประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล สำนักปรัชญาที่เริ่มต้นในยุคนี้ คือ สำนักโซฟิสต์ แนวคิดทางปรัชญาในยุคนี้เปลี่ยนโฉมไปจากเดิมคือปรัชญาในยุคนี้มุ่งศึกษาฐานะของมนุษย์ในจักรวาล คำว่า “โซฟิสต์” แปลว่า ผู้ชำนาญ หรือชาญฉลาด แต่พวกโซฟิสต์ หมายถึงชนชั้นที่ประกอบอาชีพครู พวกนี้เป็นผู้มีอาชีพสอนเด็กหนุ่ม เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตโดยคิดค่าตอบแทนเป็นเงิน พวกนี้จะเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดประสบการณ์ในการสอนปรัชญา ในยุคหลังถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองเพราะมีนักปรัชญาที่สำคัญๆ เกิดขึ้น ดังนี้ (พีระพล คดบัว, 2548, น. 8-10) โสเครตีส (Socrates, 470-399 ก่อนคริสตกาล) โสเครตีสเป็นชาวเมืองเอเธนส์ เป็นตัวอย่างของผู้แสวงหาความจริงอย่างไม่ใฝ่ประโยชน์ ชีวิตของเขาอยู่ในช่วง 470-399 ปีก่อนคริสตกาล เป็นระยะที่วัฒนธรรมกรีกได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับโสเครตีสนั้นส่วนใหญ่ได้มาจากงานเขียนของเพลโต สานุศิษย์ของเขาเอง โสเครตีสไม่เคยเขียนอะไรเลย เขาเป็นผู้ที่ไม่สนใจใยดีกับเรื่องส่วนตัวของตนเองเท่าไรนัก โดยสนใจที่จะแสวงหาความรู้มากกว่าความสุขสบายทางกายและในฐานะที่เป็นพลเมืองผู้หนึ่ง เขาไม่หวั่นที่จะเรียกร้องความยุติธรรมแม้จะก่อให้เกิดผลเสียแก่ตัวเองก็ตาม แรกทีเดียวโสเครตีสสนใจการไตร่ตรองแบบวิทยาศาสตร์ของพวกไอโอเนียนและผู้สืบทอดความคิดแบบนี้ แต่เขามักประจักษ์ว่าทฤษฎีของพวกนี้ไม่ได้ช่วยให้มนุษย์สามารถเข้าใจตัวเองได้เลย ดังนั้นเขาจึงหันเหจากวิทยาศาสตร์และหันมาศึกษาปัญหาทางจริยศาสตร์ วิธีการที่เขาใช้ในการศึกษาก็คือวิธีการของเรขาคณิตที่นักคณิตศาสตร์ใช้กันอยู่ กล่าวคือ เริ่มจากข้อสมมุติฐานและตั้งข้อสรุปจากสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีการนิรนัย โสเครตีสก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้คนหนุ่มหัวแข็ง เมื่อชนชั้นรุ่นเก่าในกรุงเอเธนส์เสื่อมอำนาจลง ผู้ปกครองรุ่นใหม่ไม่ชอบใช้การที่โสเครตีสมีอิทธิพลต่อคนชั้นสูง นอกจากนั้นเขามักจะสร้างความยุ่งยากใจแก่ผู้ที่ร่วมสนทนาด้วย เขาถามผู้ที่คิดว่าตัวเองมีความเชี่ยวชาญ และมักจะพบเสมอๆว่า เขาเหล่านั้นไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เขาถนัดเลย โสเครตีสมีวิธีการพูดที่มีความหมายตรงกันข้ามกับคำพูดของเขา โดยเขาอ้างว่าตัวเขาเองนั้นมีความโง่อยู่มาก มิได้รู้มากกว่าคนอื่นเลย ซึ่งในแง่นี้ทำให้เขาฉลาดกว่าคนอื่นที่คิดว่าตัวเองรู้ความจริง แต่แล้วไม่รู้ การเหน็บแนม (Irony) แบบนี้เป็นอาวุธที่เขาใช้ประกอบในการโต้เถียง โสเครตีสไม่ใช่เป็นคนไม่เชื่อศาสนา แต่เขามีแนวความคิดเป็นตัวของตัวเอง เขาไม่สนใจในศาสนาประจำรัฐอย่างจริงจัง แต่ก็มิได้แสดงปฏิกิริยาใดๆออกมา ในขณะที่เขามิได้คล้อยตามผู้อื่นในสังคมเขาก็เหมือนกับนักคิดกรีกโดยทั่วไปที่ท้าทายต่ออำนาจการปกครอง และในที่สุดก็มีข้อกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้มีความผิดและไม่เชื่อพระเจ้า มีคนกลุ่มน้อยตัดสินว่าโสเครตีสผิด และหาเขายอมรับสารภาพผิด ศาลก็ยกโทษให้ แต่เขาปฏิเสธ โสเครตีสจึงต้องดื่มยาพิษตาย ภาพการตายของเขาปรากฏอยู่ในงานเขียนของเพลโตในบทสนทนาเรื่องเฟโด (Phaedo) เพลโต (Plato, 427-347 ก่อนคริสตกาล) งานเขียนของเพลโตได้นำแนวคิดต่างๆก่อนยุคโสเครตีสมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพลโตเกิดในตระกูลสูงและเป็นผู้ได้รับการอบรมจากโสเครตีสตลอดมา เขาได้ตั้งโรงเรียนอะคาเดมี (Academy) ที่มีชื่อเสียงขึ้นที่เมืองอะคาเดมัสนอกกรุงเอเธนส์ งานเขียนในระยะแรกของเพลโตมีทฤษฎีแบบ (Theory of Forms) เป็นศูนย์กลางในด้านทฤษฎีความรู้ เขาได้รับแนวคิดมาจากปาร์มินิเดสและเฮราคลีตุส แบบซึ่งเป็นวัตถุของความรู้ เป็นสิ่งที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับสิ่งที่เป็น “หนึ่ง” ในความหมายของปาร์เมนิเดส ซึ่งเป็นสิ่งสมบูรณ์และเป็นอมตะ และมีอยู่ในโลกที่สูงกว่า เป็นสิ่งที่อาจเข้าใจได้ด้วยจิต ในแง่หนึ่งสิ่งที่เรารับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสบ่งถึงวัตถุเฉพาะอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ เป็นสิ่งดี เปลี่ยนแปลงได้ เช่น เปลวไฟของเฮราคลีตุสและสิ่งเหล่านี้มองจากความคิดเห็นย่อมมีความแตกต่างกันไป เพลโตถือว่า สิ่งเฉพาะเช่น ถ้วย เป็นสิ่งที่แสดงมาจากโลกของแบบหรือภาพของความเป็นถ้วย เป็นสิ่งที่มีความมั่นคงที่ และเป็นแบบหนึ่งเดียวของถ้วยที่มีอยู่ในโลกของความคิด จุดสำคัญของทฤษฎีนี้จะเห็นได้ง่ายจากวิธีการที่เราใช้ภาษา เช่น มีถ้วยอยู่หลายถ้วยและในหลายๆถ้วยนี้ก็มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น สี รูปร่าง หรือขนาด แต่มีเพียงคำเดียวที่ใช้เรียก คือคำว่าถ้วย ถ้วยแต่ละถ้วยนี้อาจมีการแตกสลายได้ แต่แบบของถ้วยยังคงอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับคำว่า ถ้วย อริสโตเติล (Aristotle, 384-322 ก่อนคริสตกาล) นักศึกษาที่มีชื่อที่สุดของสำนักอะคาเดมีของเพลโตคือ อริสโตเติล เขาเกิดที่เมืองสตาจิรา ในแคว้นเทรส ได้เข้ามาในกรุงเอเธนส์ เมื่อปี 366 และอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเพลโตตาย หลังจากนั้นได้เป็นอาจารย์สอนอเล็กซานเดอร์ (ซึ่งต่อมาเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่) ขณะที่อเล็กซานเดอร์ปกครองอยู่ อริสโตเติลสอนหนังสือในกรุงเอเธนส์ที่ลีเซียมซึ่งเป็นโรงเรียนที่เขาได้ตั้งขึ้นเอง ถึงแม้อริสโตเติลจะมีความเข้าใจวิชาคณิตศาสตร์ในฐานะเป็นสมาชิกของสำนักอะคาเดมี แต่เขามีความสนใจวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา ความสนใจนี้นำเขาไปสู่วิธีการต่างๆ ในการที่จะตอบปัญหาหลายๆแบบ หน้าที่ประการหนึ่งของนักชีววิทยาคือการจัดประเภท ดังที่เราจะพบว่าอริสโตเติลให้ความสนใจต่อปัญหาตรรกศาสตร์ว่าด้วยการแบ่งนี้ ซึ่งการจำแนกชั้นนี้มุ่งไปในการจัดประเภทของสัตว์ (ระดับของธรรมชาติ) ซึ่งก็ยังเป็นที่ยอมรับจนถึงสมัยกลาง งานของเขาด้านชีวภาพทางทะเลแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้สำรวจได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ดีความสนใจของอริสโตเติลในด้านนี้ได้นำเขาไปผิดทาง เมื่อมองจากด้านที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์กายภาพ ขณะที่ชาวไอโอเนียและเพลโตได้เข้าถึงความเป็นจริงมากกว่า เนื่องจากอริสโตเติลได้นำหลักเกณฑ์ว่าด้วยสาเหตุและจุดมุ่งหมาย (Teleology) ไปใช้ในฟิสิกส์และดาราศาสตร์ด้วย ทฤษฎีทางปรัชญาของอริสโตเติลถือว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอยู่อย่างที่มันเป็นเพราะศักยภาพ (Potentialities) ในตัวของมันเอง เป็นต้นว่าเมล็ดของต้นโอ๊กก็มีแนวโน้มที่จะเป็นต้นโอ๊กต่อไป นั่นหมายถึงในสภาวะที่เหมาะสมมันก็จะเป็นโอ๊กต่อไป ซึ่งเป็นการแสดงถึงทฤษฎีว่าด้วยสสารและแบบของอริสโตเติล วัตถุใดก็ตามที่ประกอบด้วยสสาร หรือมวลสารใดที่มีแบบอยู่ แบบเป็นสิ่งที่ทำสิ่งนั้นให้เป็นสิ่งนั้น แบบนี้เสมือนลูกพี่ลูกน้องกับแบบของโสเครตีส แต่ขณะที่แบบของโสเครตีสเป็นสิ่งที่อยู่เหนือวัตถุ (อยู่เหนือและพ้นจากวัตถุแห่งการสัมผัส) สำหรับอริสโตเติลเป็นสิ่งที่อยู่ในวัตถุ (อยู่ในวัตถุที่เรารับรู้) หันกลับไปมองทฤษฎีว่าด้วยสาเหตุ (Theory of causality) ของอริสโตเติลว่าด้วยความสัมพันธ์ของเหตุและผล เราทราบว่าเขาได้กล่าวถึงสาเหตุสี่ประการที่ว่าสาเหตุหนึ่งเป็นสาเหตุของอีกอันหนึ่ง สาเหตุเหล่านี้ได้แก่ สาเหตุแห่งวัตถุ (Material cause) สาเหตุแห่งแบบ (Formal cause) สาเหตุประสิทธิภาพ (Efficient cause) และสาเหตุสุดท้าย (Final cause) เช่น ลองคิดถึงกระป๋องน้ำมันที่ระเบิด เมื่อไม้ขีดไฟได้หล่นลงไป กระป๋องน้ำมันก็คือสาเหตุทางวัตถุ ซึ่งมีลักษณะที่สัมพันธ์กับไม้ขีด เป็นสภาวะที่จำเป็นเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ การตกลงไปของไม้ขีดไฟเป็นสาเหตุประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันนี้เราเรียกว่าสาเหตุ และสาเหตุสุดท้ายคือแนวโน้ม หรือ “ความต้องการ” เมื่อน้ำมันกับออกซิเจนมีปฏิกิริยาต่อกันที่ทำให้เกิดการเผาผลาญขึ้น ปรัชญายุคกลาง ระยะเวลาที่เรียกกันว่า ยุคกลาง เป็นสมัยเวลาอันยาวนานประมาณ 900 ปี คือเริ่มประมาณตั้งแต่คริสตวรรษที่ 5 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งสามารถแบ่งตามความเป็นไปในประวัติศาสตร์ได้เป็น 2 ระยะคือ 1.สมัยมืดมน (Dark Age) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 10 เป็นระยะเวลาอันสับสนวุ่นวายและความเสื่อมโทรมทางอารยธรรม และ 2.ยุคกลางภาคหลัง (The Later Middle Ages) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึง 14 เป็นระยะเริ่มปรากฏแสงเรืองรองแห่งอารยธรรมอันก้าวหน้าขึ้นสู่ระดับสูงขึ้นๆเป็นอันดับไป ศาสนาคริสต์กำเนิดขึ้นในศาสนาคริสต์แรกเริ่ม ประชาชนสมัยนั้นไม่ได้เรียนหนังสือ อาศัยการเรียนจากของจริง ด้วยการดู การฟัง เช่นเมื่อต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ศาสนาก็จะศึกษาจากเรื่องราวที่บรรดาพระได้วาดรูปไว้ตามกระจกสี ส่วนทางด้านวิชาชีพก็จะไปศึกษาของจริงจากผู้ประกอบอาชีพนั้นโดยตรง มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นในยุคกลางภาคหลัง ทำให้เกิดระบบการศึกษาขึ้น การสอนเทววิทยานับเป็นหัวใจแห่งศาสตร์ทั้งหลายในยุคนี้ เพราะเป็นศาสตร์ที่อธิบายด้านศาสนาและแสดงให้เห็นถึงความฟื้นจากทุกข์ โดยนักปรัชญาส่วนมากเป็นนักบวชโดยนำหลักตรรกวิทยาของอริสโตเติลมาพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับหลักคำสอนทางศาสนาเรียกว่า ลัทธิอัสมาจารย์ (Scholasticism) เพื่ออธิบายการมีอยู่ของพระเจ้าอย่างเป็นเหตุและผล ซึ่งการศึกษาดังกล่าวมีส่วนช่วยให้นักเรียนมีความเฉียบแหลมขึ้นได้ด้วยการเรียนด้วยวิธีการคิดหาเหตุผลอย่างรอบคอบ ปรัชญายุคใหม่ ปรัชญายุคใหม่เกิดการปฏิวัติทางภูมิปัญญา เนื่องมาจากผลของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจุดสูงสุดของการปฏิวัติทางภูมิปัญญาในทางปรัชญา เป็นกระบวนการที่เรียกว่า การรู้แจ้ง (The Enlightenment) โดยปรัชญายุคใหม่เชื่อว่าเหตุผลจะนำพาเราไปสู่ความฉลาดรอบรู้ ความรู้มีรากฐานมาจากประสาทสัมผัส แต่ความรู้จากการสัมผัสเป็นเพียงวัตถุดิบ ที่จะต้องกลั่นกรองด้วยเหตุผลเสียก่อน จึงจะได้คุณค่าที่จะนำมาอธิบายโลก หรือนำมาปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น ปรัชญายุคใหม่เกิดปรัชญาขึ้นหลายสำนักได้แก่ ปรัชญาสายเหตุผลนิยม มีนักปรัชญาที่สำคัญ อาทิเช่น เรเน่ เดส์คาร์ตส์, สปิโนซา, ไลบ์นิซ ปรัชญาสายประสบการณ์นิยม มีนักปรัชญาที่สำคัญ อาทิเช่น โทมัส ฮอบส์, จอห์น ลอค, จอร์จ เบิร์กเล่ย์ และเดวิด ฮูม เป็นต้น