จุดประสงค์ของการจัดทำบล็อกนี้ เพื่อต้องการเผยแพร่ความรู้ทางปรัชญาแก่นักศึกษาและผู้สนใจโดยทั่วไป
อภิปรัชญา
อภิปรัชญา (Metaphysics) มีรากศัพท์มาจากคำสองคำคือ Meta และ Physics โดยคำว่า Meta หมายถึง ล่วงพ้น และ Physics แปลว่าธรรมชาติ เมื่อรวมสองคำเข้าด้วยกันจึงแปลว่า สภาวะที่อยู่เหนือการสัมผัส หรือบางครั้งอาจเรียกอภิปรัชญาว่า ภววิทยา (Ontology) ได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อก่อนเรียกวิชานี้ว่า ภววิทยา ซึ่งหมายถึงวิชาว่าด้วยความมีอยู่ ความแท้จริง
อภิปรัชญา คำนี้เกิดจากเหตุบังเอิญคือ แอนโดรนิคัส (Andronicus) แห่งเกาะโรดส์ (Rhodes) เป็นผู้รวบรวมงานเขียนของอริสโตเติลจัดเรียงเข้าด้วยกัน โดยเรียงปฐมปรัชญา (First Philosophy) ไว้หลังปรัชญาธรรมชาติ (Natural philosophy) หรือฟิสิกส์ (Physics) ครั้นต่อมานีโคลาอุส (Nicolaus) แห่งดามัสกัสเป็นคนแรกที่เรียกปฐมปรัชญาตามลำดับที่เรียงอยู่ว่า Ta mata ta physika แปลว่าสิ่งที่มาหลัง Physika ก็คือ Physics ดังนั้นเมื่อรวมกันเข้าด้วยกันจึงกลายเป็น Metaphysics
ขอบเขตการศึกษาอภิปรัชญาไม่สามารถจำกัดขอบเขตได้ง่าย เนื่องจากเนื้อหาของอภิปรัชญามีมากและเป็นการศึกษาสิ่งที่อยู่พ้นประสาทสัมผัสของมนุษย์แต่เราสามารถมองเห็นปัญหาอภิปรัชญาจากตัวอย่างดังนี้ ปัญหาเนื้อแท้และการเปลี่ยนแปลงของโลก ปัญหาธาตุแท้ของมนุษย์ ปัญหาเจตจำนงเสรีและลัทธิเหตุวิสัย ปัญหาการมีอยู่ของพระเจ้าและปัญหาความชั่วร้าย เป็นต้น
ปัญหาสำคัญในอภิปรัชญา
บทนี้เราจะพิจารณาบางปัญหาสำคัญในอภิปรัชญา ดังนี้
ปัญหาเนื้อแท้และการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้แก่ อะไรคือความเป็นจริง หรืออะไรคือสิ่งที่แท้จริงสูงสุด และสิ่งนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร สามารถแยกเป็นทัศนะต่อปัญหาได้ดังนี้
1. จิตนิยม (Idealism) ชาวจิตนิยมเชื่อว่ามีความจริง ที่นอกจากสสารหรือวัตถุ ที่เรา
มองเห็น สัมผัสและจับต้องได้ที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน เป็นความจริงที่มีลักษณะเป็นอสสาร ซึ่งไม่มีตัวตน มองด้วยตา จับต้องด้วยมือไม่ได้ ดังนั้นชาวจิตนิยมจึงเชื่อว่า เนื้อแท้ของโลกหรือจักรวาลมิใช่มีเพียงสสารหรือวัตถุเท่านั้น แต่อสสารก็เป็นจริงและเข้ามามีบทบาทในโลกแห่งสสารด้วย ตัวอย่างทัศนะของคริสต์ศาสนาถือว่าเป็นตัวแทนของจิตนิยมได้ชัดเจนมีว่า นอกเหนือจากโลกของสรรพสิ่งที่เรามองเห็น จับต้องได้ ยังมีความจริงอีกคือพระเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนจับต้องไม่ได้ พระองค์ทรงมีบทบาทในโลกมนุษย์คือสร้างโลกและมนุษย์ และพระองค์ยังเป็นจุดหมายแห่งความเป็นไปของโลกมนุษย์อีกด้วย ศาสนาพราหมณ์ก็เป็นศาสนาหนึ่งซึ่งมีทัศนะว่าพระเจ้าคือผู้สร้าง รักษาและทำลายโลก พระเจ้าเป็นสิ่งแท้จริงสูงสุดและเป็นความจริงอันติมะ และแนวคิดของเพลโต เรื่องทฤษฎีแบบ ก็เป็นแนวคิดหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของชาวจิตนิยม (ทองหล่อ วงษ์ธรรมา, 2549, น. 87)
ชาวจิตนิยมมองการเปลี่ยนแปลงของโลกสอดคล้องกับทัศนะแบบอันตนิยมกล่าวคือ อันตนิยมเชื่อว่า ทุกสิ่งเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไป สู่จุดหมายปลายทาง ดังเช่นปรากฏในแนวคิดของอริสโตเติลที่กล่าวถึงกระบวนการของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทางของมัน โดยชี้ว่าสิ่งที่จะเคลื่อนไหวไปสู่จุดหมายนั้นประกอบด้วยภาวะ 2 อย่าง คือ ภาวะแฝง และภาวะจริง ตัวอย่างเช่น เมล็ดมะม่วงที่เราจะนำไปเพาะ เมล็ดมะม่วงนี้คือภาวะจริง ขณะเดียวกันมันยังมีสิ่งอื่นที่ยังอยู่ข้างในคือ สิ่งที่เรียกว่า “ภาวะแฝง” ภาวะแฝงนี่เองจะปรากฏเป็นจริงออกมาภายหลัง อริสโตเติลเชื่อว่าทุกสิ่งในจักรวาลเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปสู่จุดหมาย ไม่มีสิ่งใดไม่มีที่มาและดำเนินไปอย่างไร้จุดหมาย หากวิเคราะห์จากทัศนะแบบจิตนิยม สิ่งที่กำหนดจุดหมาย ให้ทุกสิ่งในจักรวาลเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปสู่จุดหมายนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ หากเป็นศาสนาคริสต์ สิ่งนั้นก็คือพระเจ้า เป็นต้น
2. สสารนิยม (Materialism) ชาวสสารนิยมเชื่อว่า สสารคือสิ่งเป็นจริงและเป็นสิ่งแท้จริง
อันติมะ มีอยู่เป็นอยู่โดยตัวเอง เป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ความจริงหรือความมีอยู่จริงได้ ตามทัศนะของชาวสสารนิยม สิ่งแท้จริงคือสสารและปรากฏการณ์ของสสาร นอกจากนี้ไม่มีอะไรจริง ตัวอย่างทัศนะของปรัชญาจารวากเป็นแนวคิดแบบสสารนิยมคือ เห็นว่าสสารเท่านั้นเป็นสิ่งที่แท้จริง มีอยู่จริง มูลสาร (Substance) อันเป็นที่มาของสิ่งต่างๆ มี 4 เรียกว่า ธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ชาวสสารนิยมมองการเปลี่ยนแปลงของโลกสอดคล้องกับทัศนะแบบจักกลนิยมกล่าวคือ ทุกสิ่งเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร้จุดหมาย คือสิ่งต่างๆที่เราเห็นอยู่ขณะนี้และมองเห็นการเคลื่อนไหวของมัน เราอาจคิดว่าเป็นการเคลื่อนไหวของมันเอง แต่ในความเป็นจริงมันมิได้เคลื่อนไหวด้วยตัวมัน หากแต่ถูกผลักดันให้เคลื่อนไหวจากภายนอก เมื่อเป็นเช่นนั้น มันจึงไม่มีจุดหมายอะไร ส่วนการที่มันจะเป็นอะไรจะไปทิศทางใด ถูกกำหนดโดยตัวที่ผลักดันซึ่งเป็นสาเหตุหรือปัจจัยสำคัญ
3. ธรรมชาตินิยม (Naturalism) ชาวธรรมชาตินิยมมีความเชื่อส่วนหนึ่งคล้ายคลึงกับ
สสารนิยม นั่นคือ สิ่งที่เป็นจริงคือสสาร แต่ธรรมชาตินิยมไม่ใช้คำว่า สสาร แต่ใช้คำว่า “สิ่งธรรมชาติ” ที่ไม่ใช้คำว่า สสาร ก็เพราะเห็นว่ามีความหมายแคบ แม้สสารทุกชิ้นจะอยู่ในระบบของ “อวกาศ-เวลา” แต่มิได้หมายความว่าสิ่งที่อยู่ในระบบอวกาศ-เวลาทุกสิ่งจะต้องเป็นสสาร คำว่า “อวกาศ-เวลา” จึงมีความหมายกว้าง และชาวธรรมชาตินิยมกล่าวว่าสิ่งธรรมชาติต้องเกิดขึ้นและดับลงโดยสาเหตุและสาเหตุนั้นต้องเป็นธรรมชาติด้วย ก็ถือว่าเป็นการยอมรับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ สสารนิยมและธรรมชาตินิยมต่างก็ยอมรับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ สสารนิยมจะให้ความสำคัญแก่วิทยาศาสตร์มาก แต่ธรรมชาตินิยมเห็นว่าวิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้ความจริงทั้งหมด มีความจริงบางอย่างที่วิทยาศาสตร์ไม่อาจอธิบายได้ (ทองหล่อ วงษ์ธรรมา, 2549, น. 90)
ชาวธรรมชาตินิยมมองการเปลี่ยนแปลงของโลกสอดคล้องกับทัศนะแบบนวนิยมกล่าวคือ นวนิยมเชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด (Amergent Evolution) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในจักรวาลเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ผลิตสิ่งใหม่ขึ้น แตกต่างจากจักรกลนิยมตรงที่จักรกลนิยมเชื่อว่า สรรพสิ่งดำเนินไปภายใต้กฎเกณฑ์ที่แน่นอนอันใดอันหนึ่ง แต่ไม่ได้ก้าวกระโดดไปสู่สิ่งใหม่ เช่นเดียวกับนวนิยม
ปัญหาธาตุแท้ของมนุษย์ ได้แก่ ประเด็นปัญหาว่าด้วยธาตุแท้หรือแก่นแท้ของมนุษย์ สามารถแยกเป็นทัศนะต่อปรัชญาได้ดังนี้
1. จิตนิยม ชาวจิตนิยมเชื่อว่า ธาตุแท้ของมนุษย์คือวิญญาณ มนุษย์ประกอบด้วย
ส่วนประกอบสองส่วนคือ ร่างกายและจิตใจ สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกาย คือสสาร เป็นสิ่งที่มีการเกิดเปลี่ยนแปลงและสลายไปตามกาลเวลา และสิ่งที่เรียกว่าจิต (Mind) หรือวิญญาณ (Soul) หรือจะเรียกอย่างอื่นเป็นสิ่งที่มิใช่สสารหรือวัตถุ แต่จะต้องเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของร่างกาย ชาวจิตนิยมเชื่อว่า จิตหรือวิญญาณเป็นอมตะ ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ ไม่สูญสลาย เพราะจิตเป็นสิ่งที่รู้คิด หรือจินตนาการ จิตเป็นผู้บังคับให้ทำตามที่คิดและจินตนาการ
2. สสารนิยม ชาวสสารนิยมเชื่อว่า มนุษย์คือเครื่องจักร มนุษย์มิใช่จิตหรือวิญญาณ โดย
เห็นว่าธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์มีเพียงสสารหรือร่างกายเท่านั้น โทมัส ฮอบส์ นักปรัชญาสสารนิยมในปรัชญายุคใหม่มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นเครื่องจักรกลไปหมด แม้แต่ร่างกายของมนุษย์ เขาก็อธิบายเปรียบเทียบมันเหมือนกับเครื่องจักรที่ซับซ้อน เช่น ตา เปรียบเทียบได้กับกล้องถ่ายรูป ปอดเปรียบได้กับเครื่องสูบลม แขนเปรียบได้กับคานงัด เครื่องมือต่างๆหลายร้อยชิ้น ในร่างกายมนุษย์ ประสานงานกันด้วยระบบประสาทซึ่งเปรียบเสมือนสายโทรศัพท์ที่ติดต่อทั่วถึงกันหมด โดยมีจุดศูนย์กลางหรือสำนักงานใหญ่ที่สมอง ดังนั้น ร่างกายของมนุษย์ก็คือ เครื่องจักรกลแต่ละชิ้นที่สัมพันธ์กันอย่างละเอียดพิสดารและมีประสิทธิภาพสูง จิตของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน เป็นสสารละเอียดอ่อน มีที่ตั้งอยู่ที่สมอง และอยู่ภายใต้กฎแห่งการเคลื่อนไหวแบบกลไกเช่นกัน
3. ธรรมชาตินิยม ชาวธรรมชาตินิยมเชื่อว่า มนุษย์คือตัวเอง กล่าวคือ มนุษย์เป็นผลิตผล
ของวิวัฒนาการอันเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นในจักรวาล มนุษย์มิใช่เป็นเพียงการรวมกันของสารเคมีเท่านั้น หากแต่มนุษย์ก็มีโลกของเขา มีคุณสมบัติอันเป็นของเขา เช่น การเรียนรู้ได้ รู้สึก มีอารมณ์ รู้รสของสุนทรียะ และรู้จักความดี ชาวธรรมชาตินิยมเชื่อว่า มนุษย์มีความสามารถและมีคุณสมบัติบางอย่างที่สัตว์อื่นไม่มี คุณสมบัติบางอย่างดังกล่าว เช่น มีสติปัญญาเรียนรู้ มีความฝัน มีแรงบันดาลใจ รู้จักศิลปะ มีสำนึกผิดชอบชั่วดี มีการวางแผนในอนาคต รู้จักว่ากำลังทำอะไรและเพื่ออะไร
ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับเทววิทยา
ความหมายของเทววิทยา
เทววิทยา (Theology) เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีกสองคำคือ Theos (พระเจ้า) และLogos (ถ้อยคำ คำสอน หรือศาสตร์) ฉะนั้น ในแง่เฉพาะเจาะจง จึงหมายถึงหลักคำสอนอันว่าด้วยเรื่องพระเจ้า แต่หากพิจารณาความหมายซึ่งใช้กันทั่วไป หมายถึงหลักคำสอนไม่เฉพาะแต่เรื่อง พระเจ้าเท่านั้น ยังรวมถึงหลักคำสอนทั้งหลายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่างๆของพระเจ้ากับจักรวาลอีกด้วย
เทววิทยา เป็นวิชาที่กล่าวถึงความรู้เกี่ยวกับเทพเจ้า (ความหมายตามรูปศัพท์) มีปรากฏชัดในศาสนาประเภทเทวนิยม (Theistic Religion) ที่ยอมรับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าที่อยู่เหนือตน เทววิทยากล่าวถึงกำเนิดของพระเจ้า คุณสมบัติของพระเจ้า การเข้าถึงพระเจ้า การปฏิบัติตัวต่อพระเจ้า การลงโทษของพระเจ้าต่อผู้ที่ละเมิดพระบัญญัติ ความมีอยู่จริงของพระเจ้า (แสวง แสนบุตร, 2545: 5)
อดิศักดิ์ ทองบุญ กล่าวว่า โดยทั่วไปคำว่า “เทวนิยม” (Theism) หมายถึงลัทธิที่เชื่อว่า มีพระเจ้าผู้ทรงอำนาจยิ่งใหญ่พระองค์เดียว พระเจ้านั้นทรงมีอำนาจครอบครองโลก และสามารถดลบันดาลความเป็นไปในโลก
เทวนิยมทางอภิปรัชญาจะเน้นว่าพระเจ้ามีอยู่จริง คือเป็นสัตที่มีอยู่อย่างเที่ยงแท้ถาวร ไม่ใช่เป็นเพียงอุดมคติอย่างที่นักปรัชญาธรรมชาตินิยมบางพวกเข้าใจ เพราะนักปรัชญาธรรมชาตินิยมนำเอาพระเจ้า (God) ไปใช้หมายถึง มโนภาพอย่างหนึ่ง (a concept) ซึ่งผูกยึดค่านิยมหรือเป้าประสงค์ของมนุษย์ให้รวมเข้าเป็นเอกภาพอย่างหนึ่งนั้น พระเจ้าของนักปรัชญาธรรมชาตินิยมจึงเป็นเพียงอุดมคติเท่านั้น ไม่ใช่สัตอย่างที่นักปรัชญาเทวนิยมหมายถึง ด้วยเหตุนี้จึงถือกันว่า นักปรัชญาธรรมชาตินิยมเป็นอเทวนิยม (atheism)
ปรัชญาตะวันตกส่วนมากที่สืบทอดเป็นปรัมปราประเพณีนั้นล้วนเป็นปรัชญาฝ่ายเทวนิยมทั้งสิ้นและระบบอภิปรัชญาส่วนมากซึ่งพัฒนามาจากศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม ต่างก็ถือเอาความมีอยู่ของพระเจ้าผู้สร้างโลกเป็นจุดเริ่มต้นของอภิปรัชญานั้นๆเหมือนกัน แม้ในปรัชญากรีกรุ่นแรกๆก็ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นธรรมชาตินิยมอย่างเด่นชัด แต่ประเพณีนิยมทางอภิปรัชญาที่มีอิทธิพลคืออภิปรัชญาของเพลโตและอริสโตเติล เป็นฝ่ายเทวนิยมเช่นเดียวกัน ในสมัยใหม่แม้เมื่อธรรมชาตินิยมได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ระบบอภิปรัชญาเทวนิยมก็เกิดตามมามากมาย หลักปรัชญาเทวนิยมสมัยใหม่แตกต่างจากเทวนิยมสมัยก่อนที่เห็นก็คือ ได้เพิ่มระดับปัจเจกนิยมให้มากขึ้นและลดความไว้วางใจในข้อสมมติฐานของประเพณีนิยมทางศาสนาให้น้อยลง
นอกจากคำเทวนิยมแล้วยังมีอีกหลายคำที่ใช้กันมากในอภิปรัชญาคือ เทววิทยา (Theology) คำนี้มีนิยามว่าวิชาว่าด้วยพระเจ้าและความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับโลกและถือว่าเป็นสาขาหนึ่งของอภิปรัชญา เทววิทยามี 2 แบบคือ
1. เทววิทยาธรรมชาติ (natural theology)
2. เทววิทยาวิวรณ์ (revealed or sacred theology)
วัฒนธรรมทางศาสนาของยุโรปสมัยกลางเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า มีแหล่งเกิดความรู้ที่
เชื่อถือได้อยู่ 2 แหล่งเท่านั้น คือ จากวิวรณ์ (revelation) กับเหตุผลของมนุษย์ (human reason) นักเทววิทยาสมัยกลางถือว่า ความรู้ทางเทววิทยาส่วนมากเกิดจากวิวรณ์ แต่ความรู้ที่เกี่ยวกับพระเจ้าที่น่าจะสมบูรณ์นั้นได้มาจากเหตุผลตามธรรมชาติ
นักปรัชญาสมัยต่อมาถือว่า การค้นหาความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าโดยไม่ต้องอาศัยคัมภีร์ ศรัทธา ประเพณีนิยม สำนักสอนศาสนา เป็นต้น จุดเป็นเทววิทยาธรรมชาติ ศาสนาธรรมชาติ (natural religion) เทวธรรมศาสตร์ (Thedicy) หรือที่ค้านท์ (Kant) เรียกว่า เทววิทยา (อดิศักดิ์ ทองบุญ, 2540: 202)
ที่มาของความรู้ของศาสนาเทววิทยาไม่ได้มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางของความรู้ มนุษย์ไม่สามารถรู้จักพระเจ้าได้ทั้งหมด เพราะมนุษย์มีขอบเขตจำกัดของความรู้เกี่ยวกับสิ่งสูงสุด การพยายามรู้จักพระเจ้าได้มาจากการอ้างเหตุผลจากบทพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าไม่ว่าจะเป็นการอ้างเหตุผลแบบภววิทยา, การอ้างเหตุผลแบบจักรวาลวิทยา และการอ้างเหตุผลแบบอันตวิทยา แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถทำให้รู้จักพระเจ้าได้ จึงต้องใช้ศรัทธาเพื่อเป็นการก้าวข้ามเหตุผลในการรู้จักสิ่งสูงสุด มนุษย์จะต้องตอบสนองความรักนั้นด้วยความไว้วางใจหรือศรัทธา
ความสำคัญของเทววิทยา
1. สัญชาตญาณการจัดระบบของภูมิปัญญา
สติปัญญาของมนุษย์ไม่ได้พึงพอใจแค่ได้สะสมหรือรวบรวมข้อมูล แต่ยังพยายาม
หาทางประมวลและจัดระบบความรู้ที่ได้มาให้เป็นเอกภาพ จิตของเราไม่พึงพอใจเพียงแค่ได้พบความจริงบางอย่างเกี่ยวกับพระเจ้า มนุษย์ และจักรวาลเท่านั้น ยังต้องการรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสิ่งต่างๆดังกล่าว ทั้งยังต้องการจัดระเบียบให้กับสิ่งที่ค้นพบ จิตไม่ได้พอใจกับส่วนเสี้ยวความรู้ที่ไม่ปะติดปะต่อกัน ยังต้องการจัดระบบความรู้ และหามติกับข้อสรุปออกมา
2. ความไม่เชื่อที่แผ่ซ่านไปทั่วในยุคนี้
อันตรายที่คุกคามคริสตจักรในยุคนี้ ไม่ได้มาจากวิทยาศาสตร์แต่มาจากปรัชญา ซึ่ง
ส่วนใหญ่รับแนวคิดแบบอเทวนิยม (Atheism) อไญยนิยม (Agnosticism) สรรพเทวนิยม (Pantheism) เป็นต้น ทำให้คนไม่เชื่อพระเจ้า ฉะนั้นการศึกษาเทววิทยาจึงจำเป็นต้อง “เตรียมให้พร้อมเสมอ” เพื่อจะตอบได้ว่าเรา “เรามีความหวังเช่นนี้ด้วยเหตุผลประการใด” ต้องมีความเชื่อที่เป็นระบบ เพื่อที่จะปกป้องความเชื่อของเราได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
3. ลักษณะของคัมภีร์
เกิดจากการรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ มาสร้างให้เป็นระบบอันสมเหตุสมผล
มีหลักคำสอนบางเรื่องที่มีใจความครบถ้วนในพระคัมภีร์ตอนเดียว แต่ไม่มีเรื่องไหนที่มีใจความครบถ้วนทุกระบวนความภายในตอนเดียว หลักคำสอนที่มีใจความครบถ้วนภายในตอนเดียว เช่น ความหมายของการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ คุณลักษณะของพระคำของพระเจ้าในสดุดี เป็นต้น ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อที่เกี่ยวข้องได้อย่างครบถ้วนก็จริง แต่ไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมดสำหรับหัวข้อนั้นๆ ฉะนั้น ถ้าอยากรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดในหัวข้อหนึ่งหัวข้อใด เราจำเป็นต้องรวบรวมคำสอนเกี่ยวกับหัวข้อนั้นจากคัมภีร์ตอนอื่นๆ มาประมวลให้เป็นระบบที่สมเหตุสมผลและสอดคล้องกัน
4. การพัฒนาอุปนิสัยแบบคริสเตียน
เกิดจากความเชื่อที่แท้ อันเกี่ยวโยงทั้งภูมิความรู้ การใช้เหตุผล และเจตจำนงนั้น มีผล
ต่อบุคลิกและความประพฤติ คนเราจะทำตามสิ่งที่เราเชื่อจริงๆ ไม่ใช่ตามสิ่งที่เราแกล้งเชื่อ ความเชื่อจะช่วยชี้นำการตรึกตรองประเด็นปัญหาต่างๆทางจริยธรรมและกระตุ้นให้มีชีวิตที่บริสุทธิ์หรือมีแนวคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระเจ้า เพื่อนมนุษย์ พระคริสต์ เป็นต้น นอกจากนี้ความเชื่อยังให้แรงจูงใจที่จะขวนขวายดำเนินชีวิตให้ได้ตามมาตรฐานนั้นด้วย
5. เงื่อนไขของการรับใช้พระเจ้าอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ที่เชื่อพระเจ้าจะสามารถรับใช้พระเจ้าและปกป้องความเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพ จะ
สามารถต้านรับการโจมตีของมารซาตาน และรุดหน้าไปอย่างมีชัยชนะตามที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมให้เราในพระคริสต์ได้ ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าเราเชื่ออะไร
ศาสนากับเทววิทยา
ในความหมายดั้งเดิม เทววิทยาอาจมาพร้อมกับประสบการณ์ทางศาสนาตั้งแต่อุบัติการณ์ของมนุษย์จนถึงปัจจุบัน การเกิดขึ้นของเทววิทยาในยุคกลางแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะตีความการโต้ตอบเพื่อแก้ไขความผิด การจัดระบบคำสอน ตลอดจนการไตร่ตรอง ซึ่งอย่างหลังนี้มีความหมายว่า “การไตร่ตรองความเชื่อหรือข้อความเชื่อซึ่งพระศาสนจักรสั่งสอนประการหนึ่ง และประสบการณ์ความเชื่อของชาวคริสต์ ซึ่งเป็นผู้กระทำการไตร่ตรองนั้นอีกประการหนึ่ง” ในการทำสังคายนาวาติกันครั้งที่สองได้มีข้อเสนอแนะสำหรับผู้ที่ศึกษาเทววิทยาโดยตรงว่า “ให้ทำการศึกษาค้นคว้าโดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทางสาขาวิชาต่างๆร่วมแรงร่วมความคิดในเรื่องการวิจัยทางเทวศาสตร์ ขณะที่ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความจริงที่พระเจ้าทรงเปิดเผยก็อย่าละเลยการติดต่อกับยุคสมัยของตนเอง”
สรุปความว่าเทววิทยาเป็นความพยายามที่จะทำการศึกษาศาสนาอย่างเป็นระบบ เพื่อการดำรงความจริงทางศาสนาไว้อย่างเหมาะสมท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก และอาจถือว่าเป็นงานชั้นอรรถกถา ฎีกา และปกรณ์พิเศษของศาสนาพุทธ แม้ว่าเนื้อหาจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงก็ตาม
ความเหมือนและความต่างระหว่างปรัชญากับศาสนา
บทความครั้งก่อนได้บรรยายความหมายของปรัชญาและพัฒนาการทางปรัชญาไปแล้ว อาจมีผู้สงสัยว่าปรัชญาและศาสนามีความเหมือนกันและต่างกันอย่างไร บทความนี้จะนำเสนอความหมายของศาสนาและจะชี้ให้เห็นความเหมือนและความต่างระหว่างศาสนากับปรัชญา ดังนี้
ความหมายของศาสนา
การศึกษาศาสนาอย่างเป็นวิชาการเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยศึกษาได้จากงานวิจัยเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของอาจารย์คนสำคัญๆ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกในการศึกษาเรื่องนี้ เราพบว่าการให้คำจำกัดความคำว่า “ศาสนา” กลายเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาโดยเฉพาะ เพราะศาสนามีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์คือ ค่อนข้างคลุมเครือ ไม่ชัดเจนเป็นขาวเป็นดำ
ในตอนแรก การให้คำจำกัดความ “ศาสนา” เป็นการให้ความหมายเกี่ยวกับความเชื่อในพระเจ้าและการที่มนุษย์พยายามสื่อสารกับพระเจ้าเป็นสำคัญ แต่ต่อมาการศึกษาศาสนากว้างมากขึ้นและมิได้จำกัดเฉพาะศาสนาเอกเทวนิยมซึ่งมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางของความเชื่อ นักวิชาการตะวันตกเริ่มหันมาศึกษาศาสนาทางตะวันออกและรับรู้ถึงอุดมการณ์สูงสุดของศาสนาที่ไม่จำเป็นต้องเป็นพระเจ้าเสมอไป เช่น ศาสนาพุทธ เป็นต้น เมื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับศาสนามากขึ้น ข้อมูลในการพิจารณาเขียนคำจำกัดความก็เปลี่ยนไป เดอร์ไคม์ ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาให้คำจำกัดความว่า “ศาสนาคือระบบรวมว่าด้วยความเชื่อและปฏิบัติเพื่อความสัมพันธ์ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์” (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์และคณะ, 2546: 4)
แต่กระนั้นการให้คำจำกัดความคำว่า “ศาสนา” ยังประสบความยุ่งยากเนื่องจากขาดข้อมูลที่เป็นความคิดเห็นร่วมกัน จากการประชุมคณะกรรมการผู้วิจัยศาสนาและความเชื่อตามโครงการวิจัยพื้นฐานจิตใจของประชาชนชาวไทย สาขาวิชาปรัชญา สภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2506 ได้มีการตกลงกำหนดโครงสร้างหรือองค์ประกอบของศาสนาไว้ 5 ประการ ซึ่งพอจะใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาศาสนาได้ดังนี้ คือ
1. พระพุทธเจ้า พระสมณโคดมในพุทธศาสนา พระนบีมุฮัมมัดในศาสนาอิสลาม เป็นต้น
แต่มีกรณียกเว้นอีกเหมือนกันคือศาสนาพราหมณ์ซึ่งเป็นศาสนาเต็มรูปแบบ แต่ไม่มีศาสดาที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ คำสอนของศาสนาพราหมณ์ได้รับมาจากพระเจ้า แต่ถ่ายทอดผ่านฤษีในช่วงสมัยต่างๆกัน รวบรวมเข้าเจิมเป็นคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ เป็นต้น
2. มีหลักธรรมคำสอนที่มีการระบุชัดเจนเกี่ยวกับศีลธรรมจรรยาและกฎเกณฑ์การปฏิบัติ
เช่น ในศาสนาพุทธมีการจารึกคำสอนลงเป็นหมวดหมู่เรียกว่า พระไตรปิฎก ศาสนาคริสต์มีคัมภีร์ไบเบิล เป็นต้น
3. มีหลักความเชื่อเป็นปรมัตถ์ เช่น ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามสอนเรื่องพระเจ้า
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูสอนเรื่องปรมาตมัน ศาสนาพุทธสอนเรื่องนิพพาน เป็นต้น
4. มีพิธีกรรม คือพิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงหลักการของศาสนา เช่น ศาสนาคริสต์มีพิธีรับศีล
มหาสนิท ศาสนาพุทธมีพิธีบรรพชาอุปสมบท เป็นต้น
5. มีสถาบันทางศาสนา หมายถึง ศาสนสถาน คือที่ตั้งอันเป็นสถานที่ที่ศาสนิกมาพบปะ
กันเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา เช่น โบสถ์ วิหารในพุทธศาสนา สุเหร่าในศาสนาอิสลาม เป็นต้น ศาสนสถานเหล่านี้จะไม่มีความหมายหากขาดผู้ประกอบพิธีกรรม ดังนี้จึงต้องมีองค์กรของศาสนา คือ พระภิกษุฝ่ายหนึ่งกับฆราวาสอีกฝ่ายหนึ่ง (ในพุทธศาสนา) แต่สำหรับศาสนาอิสลามแม้ไม่เน้นความแตกต่างระหว่างนักบวชกับฆราวาส แต่ก็จะมีโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม ซึ่งเป็นผู้รู้ในศาสนา เป็นองค์กรในศาสนาเช่นกัน (เรื่องเดียวกัน, หน้า 4-
คำว่า ศาสนา โดยความหมายของศัพท์แปลว่า คำสอน หมายถึง คำสอนที่เกี่ยวกับความประพฤติทางกาย วาจา และใจ หรือเป็นคำสอนเกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดทั้งในปัจจุบันและรอดในโลกหน้า (ทวี ผลสมภพ, 2535: 7)
ที่มาของความรู้ทางศาสนาไม่จำกัดขอบเขตเฉพาะประสาทสัมผัสเท่านั้น แต่ศาสนาได้ขยายขอบเขตถึงความจริงที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ซึ่งต้องอาศัยการปฏิบัติและประสบการณ์ทางศาสนาจึงจะสามารถรู้ได้ ซึ่งความจริงทางศาสนามีขอบเขตกว้างกว่าวิทยาศาสตร์ จึงไม่อาจใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาได้ ต้องอาศัยวิธีการเฉพาะของแต่ละศาสนา ซึ่งมักได้แก่ การปฏิบัติบำเพียรทางใจ เช่น การนั่งสมาธิ วิปัสสนา หรือศรัทธา เป็นต้น
พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติเพื่อการเอาชีวิตรอด ตัวอย่างเช่น พระพุทธองค์ทรงวางแนวทางการสอนเพื่อประโยชน์ 3 ระดับ คือ (เรื่องเดียวกัน, หน้า 9)
1. ระดับต้น หมายถึง การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุข ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ประโยชน์ในปัจจุบัน และทรงวางแนวปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบัน 4 ข้อ คือ
1. มีความขยันทำการงาน (อุฎฐานสัมปทา)
2. รู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้ (อารักขสัมปทา)
3. มีเพื่อนเป็นคนดี (กัลยาณมิตตตา)
4. เลี้ยงชีวิตอย่างสม่ำเสมอไม่ฟุ้งเฟื้อเกินไปและไม่ขัดสนจนเกินไป (สมชีวิตา)
โดยสรุปแล้วก็ได้ใจความว่า ใครก็ตามถ้าต้องการประโยชน์ในปัจจุบันหรือต้องการมีชีวิตเป็นสุขในปัจจุบันก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางทั้ง 4 ข้อนี้ให้ครบถึงจะเกิดผล ถ้าปฏิบัติเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ผลก็จะไม่สมบูรณ์
2.ระดับกลาง หมายถึง การมีชีวิตเป็นสุขในโลกหน้า หลังจากตายไปแล้ว ทาง
พระพุทธศาสนาเรียกว่าประโยชน์ในสัมปรายภพ คนเราเมื่อมีความสุขในปัจจุบันแล้ว บางคนก็อยากมีความสุขในโลกหน้าอีก เพื่อบรรลุความประสงค์พระพุทธองค์จึงทรงวางแนวทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขในโลกหน้า 4 ข้อ คือ
1. มีศรัทธา (สัทธาสัมปทา)
2. มีศีล
3. บริจาคทรัพย์ทั้งภายในภายนอก (ปริจาคสัมปทา)
4. มีปัญญารู้ความจริงของชีวิต (ปัญญาสัมปทา)
รวมความว่าใครต้องการประโยชน์ในชาติหน้าก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางทั้ง 4 ข้อนี้
ให้ครบ ชีวิตของผู้นั้นก็เป็นอันอยู่รอดได้ในชาติหน้าอย่างแน่นอน
3.ระดับสูงสุด ทางพระพุทธศาสนา หมายถึง ตัดรากเหง้าของสังสารวัฏ กล่าวคือ ไม่เกิด
ไม่ตายกันอีกต่อไป พระพุทธศาสนาถือว่าตราบใดที่ยังมีการเกิด ความทุกข์ทรมานก็จะยังมีอยู่ตราบนั้น ถ้าจะไม่ให้มีทุกข์กันอีกต่อไปก็ต้องไม่เกิด การที่จะมองเห็นการมีชีวิตอยู่ในโลกเป็นทุกข์นั้นจะต้องใช้ปัญญามอง ถ้าไม่ใช้ปัญญามองก็จะมองไม่เห็นความทุกข์ของการเกิด เมื่อมองไม่เห็นความทุกข์ของการเกิด ก็จะอยากเกิดอีกร่ำไป เช่น ปุถุชน เรามองไม่เห็นความทุกข์ของชีวิต เพราะฉะนั้น ปุถุชนจึงอยากเกิดอยู่ร่ำไป จะอย่างไรก็ตามเมื่อไม่อยากเกิดหรืออยากจะดับทุกข์ทั้งมวลตามคำสอนของพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ทรงวางแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุดไว้ 8 ประการ คือ
1. เห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)
2. ดำริชอบ (สัมมาสังกับปปะ)
3. เจรจาชอบ (สัมมาวาจา)
4. ทำการงานชอบ (สัมมากัมมันตะ)
5. พยายามชอบ (สัมมาวายามะ)
6. เลี้ยงชีวิตชอบ (สัมมาอาชีวะ)
7. ระลึกชอบ (สัมมาสติ)
8. ตั้งใจชอบ (สัมมาสมาธิ)
แนวทาง 8 ประการนี้ ก็คือ มรรคมีองค์ 8 ที่เรารู้จักกันนั่นเอง ใครก็ตามที่ต้องการประโยชน์สูงสุด จะต้องปฏิบัติตามแนวทางทั้ง 8 ประการนี้ เมื่อปฏิบัติได้ครบถ้วนแล้ว ย่อมกำจัดกิเลสที่จะนำไปเกิดในภพต่างๆ ได้ เมื่อไม่เกิดเสียอย่างทุกข์บรรดามีในโลกเราก็ไม่ต้องเจอ เป็นอันว่าเราเอาตัวรอดได้ในสังสารวัฏทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า ถึงพระนิพพาน
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาก็สอนให้ได้รับประโยชน์ในระดับต่างๆตามความต้องการของแต่ละคน โดยสรุปแล้ว คำว่า ศาสนาแปลว่า คำสอนที่ให้แนวทางปฏิบัติเพื่อความสุขในระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง
ความเหมือนและความต่างระหว่างศาสนากับปรัชญา
ในความหมายทั่วไป ปรัชญาของใครก็คือบทสรุปความเชื่อมั่นสำคัญๆของผู้นั้น ปรัชญาเป็นเรื่องของการสอบสวนถึงธรรมชาติของความจริงซึ่งดำเนินไปเกินขอบเขตของประสบการณ์โดยทะลุเข้าไปยังแก่นของชีวิตและโลก ทั้งนี้เพราะปรัชญามีเป้าหมายหลักอยู่ 2 อย่าง คือ (1) เพื่อเข้าใจถึงโครงสร้างของโลกเชิงทฤษฎี และ (2) เพื่อค้นหาและประกาศวิถีชีวิตที่ดีที่สุด นับตั้งแต่เฮราไคลตุสจนถึงเฮเกลหรือแม้มาร์กซ์ ปรัชญายังคงรักษาเป้าหมายทั้งสองอย่างนี้ไว้ตลอด คือไม่เป็นทฤษฎีล้วนๆหรือเป็นปฏิบัติทั้งหมด แต่แสวงหาทฤษฎีเอกภพเพื่อที่จะใช้เป็นฐานทางศีลธรรม โดยนัยนี้ศาสนาจึงต้องการให้ผู้นับถือปฏิบัติตามขั้นตอนของระบบคำสอน เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงสิ่งที่ดีที่สุดอันเป็นเนื้อหาของความจริงแท้ๆ และทำให้มีความรู้สึกว่าได้สัมผัสอยู่กับความจริงนั้นทั้งหมดหรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เป็นเรื่องของพุทธปัญญาล้วนๆ ในปรัชญา อันที่จริงแล้วก็คือเรื่องของประสบการณ์ตรงที่เข้าถึงได้ด้วยศาสนา
สิ่งแรกที่สังเกตเห็นเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างปรัชญากับศาสนา คือ ปรัชญาเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจธรรมชาติและโครงสร้างความจริงอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนศาสนาเป็นเรื่องของการเข้าถึงความจริงนั้นโดยตรง จึงเน้นให้ลงมือกระทำหรือปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี
อีกประการหนึ่ง ปรัชญาเป็นเรื่องของการใช้ความคิด เหตุผลหรือความรอบรู้อย่างกว้างขวาง ส่วนศาสนาก้าวไกลไปกว่านั้น คือใช้ความรู้คิด (knowing) ความรู้สึก (feeling) และความตั้งใจ (willing) อันเป็นการศึกษาภาวะทั้งหมดของมนุษย์ มนุษย์มิใช่เพียงสัตว์ที่มีเหตุผลเท่านั้น หากยังค้นหาความหมายของหลักปฏิบัติ มาตรฐานหรืออุดมคติในการปฏิบัตินั้นๆด้วย และมนุษย์ค้นคิดให้กำเนิดวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และมีศีลธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง ในทางความคิด มนุษย์ก็เสาะแสวงหามาตรฐานความจริง ในความรู้สึกหรืออารมณ์ เขาเสาะแสวงหาความงาม และในกิจกรรม เขาพยายามที่จะบรรลุความดีในความสำนึกทางศาสนา มนุษย์มีความรู้สึกว่าเขากำลังสัมผัสอยู่กับอุดมคติหรือคุณค่าต่างๆอันมีอยู่แล้วเป็นนิรันดร์
นอกจากนี้ปรัชญาต้องการที่จะเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง แต่ศาสนาเน้นอารมณ์อย่างเต็มที่ ความกลัว ความศรัทธา ความผิดหวัง ความสมหวัง ฯลฯ เหล่านี้เป็นลักษณะทั่วไปของศาสนา ปรัชญามีลักษณะใจกว้าง ยับยั้งชั่งใจ สงสัยและใช้เหตุผล แต่ศาสนาให้ความสำคัญแก่ความเชื่อมั่นและลักษณะสิทธิธันตนิยม (dogmatic) โดยเฉพาะเกี่ยวกับคำสอนหลักๆ
แม้จะมีความแตกต่างกันดังกล่าว ปรัชญาและศาสนาก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ศาสนาต้องอาศัยปรัชญาเพื่อความมั่นคงและก้าวหน้าในทฤษฎีคำสอน ฝ่ายปรัชญาก็ต้องอาศัยศาสนาเป็นจุดเริ่มต้น คือความอยากรู้อยากเห็นถูกกระตุ้นโดยศาสนา กล่าวคือความต้องการความมั่นคงปลอดภัยในการดำรงชีวิต เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างศาสนากับปรัชญา เพราะปรัชญาจะวิพากษ์เฉพาะความเชื่อที่ไร้เหตุผลหรือความคิดที่ผิดและปราศจากวิจารณญาณเท่านั้น เบคอนกล่าวไว้อย่างสมเหตุสมผลว่า “ใจคนที่มีปรัชญาเพียงเล็กน้อยจะทำให้เขาเหินห่างจากศาสนา แต่เมื่อมีปรัชญาลึกซึ้งจริงๆจะทำให้เขาหันมายังศาสนา” (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์, 2546: 13-14)
พัฒนาการปรัชญาตะวันออก
พัฒนาการปรัชญาตะวันออก
ปรัชญาอินเดียและปรัชญาจีนถือว่าเป็นกระแสธารสำคัญในปรัชญาตะวันออก ปรัชญาทั้งสองมีวัฒนธรรมและหลักคำสอนที่เก่าแก่ ซึ่งจะขอกล่าวปรัชญาที่สำคัญเพียงบางสำนักเท่านั้น
ปรัชญาอินเดีย
ปรัชญาอินเดียมีพัฒนาการความเชื่อสืบต่อกันมาโดยมีลำดับดังนี้ (พีระพล คดบัว, 2548, น. 14-17)
1. สมัยพระเวท พระเวทมีมาตั้งแต่เมื่อไร ไม่มีใครทราบ เท่าที่ทราบก็คือ ในหมู่อริยชน
ในอินเดียดึกดำบรรพ์มีคำสอนอยู่ชุดหนึ่ง ซึ่งถือกันว่าได้รับมาจากพระเจ้า นักประวัติศาสตร์บางคนอ้างว่าชาวอินเดียเริ่มนับถือพระเวทมาตั้งแต่ประมาณ 4,500 มาแล้ว แต่บางคนก็บอกว่าพระเวทเริ่มอุบัติขึ้นประมาณ 3,000 ปีมานี่เอง อย่างไรก็ตาม พระเวทที่นับถือกันในตอนแรกนั้น เป็นเพียงคำพูดที่ท่องจำสืบต่อกันมาและเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ
พระเวท หรือ เวทะ แปลว่าความรู้ แบ่งคัมภีร์ออกเป็น 4 หมวด คือ หมวดมนตรหรือมันตระ เป็นบทสวดสรรเสริญเทพ หมวดพราหมณะเป็นคำอธิบายของพราหมณ์ หมวดอารัณยกะเป็นคำอธิบายของฤาษีที่อยู่ตามป่า หมวดอุปนิษัทเป็นคำอธิบายของนักปรัชญา
หมวดมนตร์ แบ่งออกเป็น 4 คัมภีร์ หรือเรียกตามศัพท์เดิมว่า สัมหิตา คือ
1.1 ฤคเวท หรือ ฤคสัมหิตา เป็นบทร้อยกรองที่เชื่อได้ว่าเก่าแก่ที่สุด สำหรับสวดสรรเสริญ
เทพต่างๆ ที่ประจำอยู่ในธรรมชาติ อันได้แก่ อินทระ อัคนี สูรยะ วรุณะ วิษณุ อุษา ฯลฯ เทพเหล่านี้ต่างปฏิบัติหน้าที่เป็นอิสระ ไม่มีองค์ใดใหญ่กว่าองค์อื่นหรือปกครององค์อื่น เราเรียกลัทธิที่นับถือเทพหลายองค์เช่นนี้ว่าพหุเทวนิยม (Polytheism) ซึ่งต่อมากลายเป็นอติเทวนิยม (Henotheism) โดยการยกย่องเทพองค์หนึ่งเป็นใหญ่เหนือเทพองค์อื่น จะยกย่องเทพองค์ใดนั้นแล้วแต่ศรัทธา
1.2 ยชุรเวท หรือ ยชุรสัมหิตา แต่งเป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง กำหนดการปฏิบัติในพิธี
บูชายัญ
1.3 สามเวท หรือ สามสัมหิตา เป็นบทเพลงสำหรับขับเสียงเสนาะในเวลาบูชายัญถวายเทพ
เจ้าดังกล่าวมาข้างต้น
1.4 อาถรรพเวท หรือ อถรวสัมหิตา รวมคาถาเกี่ยวกับการปฏิบัติทางไสยศาสตร์
2. สมัยสำนักปรัชญา หลังจากอุปนิษัทถือกันว่าวิวรณ์ (Revelation) หรือการเปิดเผยคำ
สอนของพระเจ้าสิ้นสุดแล้ว ต่อจากนี้ไปนักปรัชญาจะต้องพยายามเข้าใจให้เป็นระบบปรัชญา ยุคนี้เป็นยุคทองของสำนักปรัชญาในอินเดีย ซึ่งมีอายุระหว่างประมาณ 200 ปีก่อนพุทธกาลจนถึงประมาณ 1,200 ปีหลังพุทธกาล สำนักที่สำคัญมีอยู่ 9 สำนัก แบ่งออกเป็นสองพวกคือ พวกที่ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท และพวกที่ไม่ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท แต่พยายามตั้งลัทธิปรัชญาขึ้นด้วยเหตุผลหยั่งรู้ของตนเอง
2.1 พวกที่ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท มี 6 สำนัก ได้แก่
2.1.1 สางขยะ ค้นคว้าทางญาณวิทยา วิเคราะห์ความรู้ของมนุษย์อย่างละเอียด ผู้
ก่อตั้งสำนักมีนามว่ากบิล ลัทธินี้ภายหลังกลายเป็นลัทธิอเทวนิยม โดยได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาและศาสนาเซนเลิกนับถือคัมภีร์พระเวทและพยายามหาทางหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดด้วยปรัชญาของตน แต่ต่อมาภายหลัง วิชญาณภิกษุได้พยายามฟื้นฟูลัทธิสางขยะให้กลับเป็นเทวนิยมขึ้นใหม่
2.1.2 โยคะ พยายามค้นคว้าทางหลุดพ้นโดยวิธีบำเพ็ญตบะและบำเพ็ญพรตอย่าง
แรงกล้า จนได้รับความรู้ทางจิตวิทยามากมาย ผู้ก่อตั้งสำนัก ได้แก่ ปตัญชลี
2.1.3 นยายะ ค้นคว้าทางตรรกวิทยา เพื่อนำไปใช้ในการหาความรู้และตัดสิน
ความรู้ ผู้ก่อตั้งสำนักมีนามว่า เคาตมะ หรือ โคตมะ
2.1.4 ไวเศษิกะ ค้นคว้าทางอภิปรัชญา พยายามเข้าใจความจริงในรูปแบบต่างๆ เพื่อ
นำใช้ปฏิบัติในการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ก่อตั้งสำนักคือ กณาทะ
2.1.5 มีมามสา ถือพระเวทเป็นความจริงนิรันดร ต้องเชื่อตามตัวอักษร นักปราชญ์มี
หน้าที่ชี้แจงว่าคนเราควรปฏิบัติตนอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ จึงจะถูกต้องตามพระประสงค์ของพระเจ้า ไชมินิ เป็นผู้ก่อตั้งสำนัก
2.1.6 เวทานตะ ค้นคว้าเรื่องปรมาตมัน หรือ พรหมัน เพราะเชื่อว่าเป็นกุญแจสำคัญ
ที่จะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง นักปราชญ์ที่สำคัญของลัทธิได้แก่ เคาฑปาทะ ศังกราจารย์ และรามานุชะ
2.2 พวกที่ไม่ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท แต่ถือว่าเป็นตำรับความรู้ธรรมดา
ต้องค้นคว้ากันต่อไปจนได้รับความรู้ที่น่าพอใจ แบ่งออกเป็นลัทธิที่สำคัญ 3 ลัทธิด้วยกัน คือ
2.2.1 จารวาก เป็นลัทธิสสารนิยมอย่างสมบูรณ์ ดังคำบรรยายลัทธินี้ในหนังสือ
สรรพทรรศนสังคหะว่า “ไม่มีสวรรค์ ไม่มีความหลุดพ้น ไม่มีวิญญาณใดๆ อยู่ในโลกอื่น ไม่มีการกระทำหรือกรรมของใครในวรรณะทั้งสี่ที่จะก่อให้เกิดผล การบูชาไฟ พระเวททั้งสาม การร่างมนต์ของพวกนักบวช และการทาตัวด้วยขี้เถ้า เป็นอุบายวิธีหาเลี้ยงชีพของพวกคนโง่และไร้ยางอาย ถ้าหากว่าสัตว์ที่ถูกฆ่าในพิธีบูชายันต์ได้ไปเกิดในสวรรค์จริงแล้ว ไฉนผู้ประกอบพิธีบูชายัญไม่เอาบิดามารดาของตนมาฆ่าบูชายัญเช่นนั้นบ้างเล่า ควรแสวงหาความสุขเสียตั้งแต่ในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นจากการรวมของธาตุ 4 และดับสูญไปโดยการแยกตัวของธาตุ 4 ความเป็นจริงที่แท้จึงมีแต่ธาตุ 4 เท่านั้น
2.2.2 พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก่อตั้งลัทธิที่เน้นให้ศึกษาค้นคว้าให้เข้าใจอริยสัจ 4
เพื่อผลแห่งการหลุดพ้นจากสังสารวัฏโดยตนเอง “ตนของตนเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง”
2.2.3 ศาสนาเชน เป็นปรัชญาแบบประสบการณ์นิยม เชื่อความรู้ทางผัสสะคือเชื่อ
ทุกสิ่งทุกย่างมีอยู่จริงตามผัสสะของเรา สอนการหลุดพ้นจากกิเลส โดยยึดหลัก 3 ประการคือ
1) สัมมนาทัสสนะ ได้แก่ ความเชื่อมั่นในคำสอนของศาสดาในศาสนาเชน
อย่างแท้จริง
2) สัมมาญาณะ ได้แก่ การมีความรู้อย่างแท้จริงในคำสอนของศาสดา
3) สัมมาจาริตตะ ได้แก่ การประพฤติตนให้ถูกต้องตามคำแนะนำของศาสดา
คุณธรรมที่ลัทธินี้เน้นเป็นพิเศษได้แก่ การมีอหิงสา หรือการไม่เบียดเบียนต่อสัตว์ทุกชนิด และการมีใจอุเบกขา ต่อการดำรงชีพอย่างแท้จริง
ปรัชญาจีน
ขงจื้อ (Confucius หรือ K’ung Tzu) เป็นนักปรัชญาที่จัดว่ามีชื่อเสียงที่สุดของจีน ปรัชญาของขงจื้อมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของชาวจีนมากที่สุด ขงจื้อได้จัดความสัมพันธ์ขั้นมูลฐานของมนุษย์ไว้ 5 ประการ และแนะนำหลักจริยธรรมสำหรับการปฏิบัติให้สอดคล้องเหมาะสมกับความสัมพันธ์นั้นๆ ดังนี้
1. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง ประกอบด้วยความเมตตา ความ
สุจริตและความจงรักภักดี กล่าวคือ กษัตริย์และรัฐบาลควรปฏิบัติต่อขุนนางและประชาชนด้วยความเมตตาและความซื่อสัตย์สุจริต ขุนนางและประชาชนก็ควรมีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์และรัฐบาล
2. ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา ประกอบด้วยความเมตตาและความ
กตัญญูกตเวที กล่าวคือ บิดามารดาพึงมีเมตตาต่อบุตรธิดา ในขณะที่บุตรธิดาก็ต้องมีความกตัญญูกตเวทีรู้จักตอบแทนพระคุณของบิดามารดา
3. ความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา ประกอบด้วยความรัก ความซื่อสัตย์ และความ
รับผิดชอบในหน้าที่ของตนหมายความว่า สามีภรรยาพึงมีความรักด้วยความซื่อตรงต่อกัน ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสามีหรือภรรยาอย่างถูกต้อง
4. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่หรือระหว่างญาติพี่น้อง ประกอบด้วยความ
สามัคคีและความเคารพหมายความว่า ญาติพี่น้องควรรักใคร่สามัคคีปรองดองกัน ผู้มีอาวุโสน้อยกว่าควรให้ความยำเกรงผู้อาวุโสกว่า ส่วนผู้มีอาวุโสมากกว่าก็ให้เกียรติแก่ผู้มีอาวุโสน้อยกว่า
5. ความสัมพันธ์ระหว่างมิตรสหาย ประกอบด้วยความจริงใจ หมายความว่าควรมีความ
รักและความปรารถนาดีอย่างจริงใจต่อเพื่อน ต่างฝ่ายต่างต้องทำตัวให้น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้
จากที่กล่าวมา ถ้าบุคคลปฏิบัติตามหลักจริยธรรมดังกล่าวแล้วจะทำให้สังคมเกิดความ
สงบสุข นอกจากการปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้แล้ว ปัจเจกชนแต่ละคนจะต้องทำหน้าที่อื่นๆตามฐานะหรือสถานภาพที่ตนมีอยู่เป็นอยู่ ซึ่งในเรื่องนี้เราอาจแบ่งจริยธรรมออกเป็นสองกลุ่มคือ
1. จริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ บุคคลแต่ละคนมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับ
ตำแหน่งหน้าที่การงานหรือสถานภาพที่ตนเองมีอยู่ จริยธรรมนี้เรียกว่า เจียเมี้ย ได้แก่การปฏิบัติให้ถูกต้องกับสถานภาพที่ชื่อบ่งถึง (Rectification of names) เช่น กษัตริย์ ครู ตำรวจ โดยชื่อบ่งถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องกระทำให้สมกับตำแหน่งหรือฐานะอันนั้น
2. จริยธรรมพื้นฐานหรือจริยธรรมเพื่อพัฒนาตน เป็นหลักปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตใจและ
พฤติกรรมที่ดีงามของมนุษย์ได้แก่
1.1 ยิ้น หรือ เหยิน (Jen) หมายถึงมนุษยธรรม ความมีจิตใจเป็นมนุษย์ ความเป็น
มนุษย์ที่แท้จริง หรือความรักความเมตตา ซึ่งขงจื้อเห็นว่าเป็นคุณธรรมที่สำคัญที่สุดหรือเป็นคุณธรรมที่สมบูรณ์
1.2 เซี่ยว และ ตี่ (Hsiao and Ti) หมายถึงความรักในบิดามารดาและความรักฉันท์พี่
น้อง จัดเป็นเหตุผลมูลฐานของความรักที่มนุษย์มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ขงจื้อเห็นว่าครอบครัวเป็นหน่วยแรกที่อำนวยโอกาสให้มนุษย์สามารถฝึกคุณธรรม “ยิ้น” ได้เป็นอย่างดี
1.3 ตง สู่ หรือ จุง สู่ (Chung Shu) หมายถึงความซื่อสัตย์และการเอาใจเขามาใส่ใจเรา
หรือการรู้จักเห็นอกเห็นใจ เป็นคุณธรรมหรือหลักปฏิบัติเกื้อหนุนหรือมาคู่กับยิ้น ตงหมายถึงความจงรักภักดี เป็นความซื่อสัตย์สุจริต ส่วนสู่หมายถึงการรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เรารู้จักรักสุข เกลียดทุกข์เช่นใด คนอื่นก็รู้จักเช่นนั้นเหมือนกัน
1.4 ยี่ (Yi) หรือ อี่ (I) หมายถึงความชอบธรรมหรือความถูกต้อง ซึ่งก็คือการกระทำดี
เพื่อความดี กระทำในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องหรือควรทำโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนหรือเพราะถูกบังคับแต่อย่างใด
1.5 หลี่ (Li) หรือมารยาทและจารีตประเพณี
เหลาจื้อ (Lao Tzu) เป็นนักปรัชญาจีนที่สอนให้เราดำเนินชีวิตคล้อยตามกฎธรรมชาติ
ทั้งนี้ท่านไม่เห็นด้วยกับศีลธรรมที่เป็นการบัญญัติหรือสร้างขึ้น คำสอนที่ถือว่าเป็นแกนกลางหรือเป็นทางแห่งการดำรงชีวิตที่สำคัญคือ “หวู-เว่ย” (Wu Wei) ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า Having-no-activity หรือ Non-action พอจะแปลได้ว่า หลักอกรรม คือการกระทำโดยไม่กระทำ แต่มิใช่หมายถึงไม่ทำอะไรเลย เช่น ในห้องเรียนคุยกันเสียงดัง อาจารย์สั่งให้นักศึกษาเงียบ ถ้านักศึกษาบอกต่อๆกันว่า เงียบ แล้วนั้น ความเงียบย่อมเกิดขึ้นมิได้ แต่เมื่อนักศึกษาหยุดพูด นั่นแหล่ะความเงียบจึงเกิดขึ้น ซึ่งหลักคำสอนนี้จัดได้ว่าเป็นแบบธรรมชาตินิยม ที่ต้องการให้คนดำเนินตามหลักธรรมชาติ อย่าฝืนธรรมชาติ พอจะสรุปได้ดังนี้
1. มีชีวิตที่เรียบง่ายโดยถือหลักความรู้จักพอหรือสันโดษ
2. ดำรงตามหลักปัญญาญาณ (Practicing Enlightenment) อันได้แก่
2.1 เข้าใจกฎความจริงโดยธรรมชาติ
2.2 เข้าใจตนเอง
2.3 รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม
3. ให้มองเห็นจุดดีในสิ่งที่คนอื่นเห็นว่าเลว นั่นคือเป็นคนมองอะไรหลายๆด้าน
4. มีความรู้เพียงแต่น้อยและเป็นนายของความรู้
5. มีเต๋าเป็นอุดมคติ
ส่วนหลักจริยธรรมโดยสรุปที่เหลาจื้อเองถือว่าเป็นหนทางนำไปสู่เต๋าและตนเอง
ยึดถือเป็นหลักชีวิตเสมอมามีอยู่สามประการคือ ความเมตตากรุณา ความเรียบง่ายสมถะ และความสุภาพอ่อนโยน
พัฒนาการปรัชญาตะวันตก
พัฒนาการปรัชญาตะวันตก
มนุษย์เป็นสัตว์ใช้เหตุผล ดังจะเห็นจากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมีการใช้เหตุผลแสวงหาความรู้กันมาตลอด ซึ่งเรื่องที่มนุษย์สนใจแตกต่างกันไปตามสภาพสังคมของแต่ละสมัย
ยุคโบราณ
แนวคิดทางปรัชญาเริ่มจากการคิดค้นของชาวกรีก โลกตะวันตกถือว่าประชาชนที่รวมกันขึ้นเป็นรัฐอย่างมั่นคงและมีระเบียบแบบแผนจะเริ่มที่กรีกก่อน นครรัฐของกรีกเป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่บนดินแดนที่ล้อมรอบด้วยทะเลอีเจียน ศูนย์ทางวัฒนธรรมของกรีก คือกรุงเอเธนส์ นครรัฐของกรีก เจริญถึงขีดสุดในช่วงระหว่าง 600-400 ปีก่อนคริสตกาล ในช่วงนี้เองที่คนกรีกได้คิดค้นและสร้างปรัชญาขึ้นมา ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปรัชญาตะวันตก ยุคกรีกแบ่งออกเป็น 2 ยุคย่อยๆ ดังนี้
ก.ปรัชญากรีกยุคเริ่มแรก
นักปรัชญากรีกมุ่งแสวงหาความจริงเกี่ยวกับต้นกำเนิดของสิ่งทั้งปวงหรือปฐมธาตุของโลก ดังนี้
ธาเลส (Thales, 624-548 ก่อนคริสตกาล)
นักปรัชญาที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งปรัชญาตะวันตกยุคโบราณ” เป็นผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญาที่มีชื่อว่า “สำนักไอโอนิค” และเป็นผู้ที่คิดค้นหาปฐมธาตุของโลก เขาได้รับคำตอบต่อเรื่องนี้ว่า สิ่งที่เป็นปฐมธาตุของโลกหรือสรรพสิ่ง คือ “น้ำ” สรรพสิ่งถือกำเนิดมาจากน้ำและจะกลับคืนสู่น้ำในที่สุด
อแนกซิแมนเดอร์ (Anaximander, 610-545 ก่อนคริสตกาล)
ปฐมธาตุของโลกคือ อนันต์ (Infinite) เป็นสสารไร้รูปคือ ตัวมันเองยังไม่เป็นอะไรเลยและพร้อมที่จะเป็นสิ่งอื่นได้ทุกเมื่อ
อแนกซิเมเนส (Anaximenes, 588-528 ก่อนคริสตกาล)
ปฐมธาตุของโลกคือ อากาศ (Air) เพราะอากาศแผ่ขยายออกไปไม่มีที่สิ้นสุดและมีพลังขับเคลื่อนในตัวเอง โดยอธิบายว่า ในเวลาที่อากาศเคลื่อนตัวออกห่างจากกันและกัน อากาศขยายตัว ปริมาณของอากาศจะเจือจาง หากเจือจางถึงขีด อากาศจะกลายเป็นไฟ และลูกไฟก็กลายเป็นดวงดาวในท้องฟ้า ในทำนองกลับกัน ถ้าอากาศเคลื่อนเข้ารวมกันหรือมีการกลั่นตัว (Condersation) ความเข้มข้นของอากาศมีมาก อุณหภูมิของอากาศมีมาก อุณหภูมิของอากาศลดลง อากาศจะมีความเย็นมากขึ้นแล้วจับตัวเป็นก้อนเมฆ ถ้ายิ่งกลั่นตัวควบแน่นยิ่งขึ้น อากาศจะกลายเป็นน้ำแล้วกลายเป็นดินและหินได้ทีเดียว
พิธากอรัส (Pythagoras, 582-517 ก่อนคริสตกาล)
ปฐมธาตุของโลกคือ หน่วย (Unit) สิ่งทั้งหลายซึ่งรวมถึงจำนวนเลขเกิดมาจากหน่วย หน่วยหรือจุดรวมตัวกันทำให้เกิดเส้น เส้นรวมตัวกันทำให้เกิดเนื้อที่ เนื้อที่รวมตัวกันทำให้เกิดปริมาตร
เฮราคลิตุส (Heraclitus, 535-475 ก่อนคริสตกาล)
ปฐมธาตุของโลกคือ ไฟ เพราะไฟแปรรูปเป็นสรรพสิ่ง โดยระยะแรก ไฟแปรรูปเป็นลม จากลมเป็นน้ำ จากน้ำเป็นดิน นี่คือการแปรรูปทางลง (Downward Path) นอกจากนั้นดินอาจแปรรูปเป็นพลังเป็นน้ำ จากน้ำเป็นลม จากลมเป็นไฟ เป็นการแปรรูปทางขึ้น (Upward Path)
ปรัชญากรีกยุครุ่งเรือง
กรีกยุคหลังเริ่มต้นประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล สำนักปรัชญาที่เริ่มต้นในยุคนี้ คือ สำนักโซฟิสต์ แนวคิดทางปรัชญาในยุคนี้เปลี่ยนโฉมไปจากเดิมคือปรัชญาในยุคนี้มุ่งศึกษาฐานะของมนุษย์ในจักรวาล คำว่า “โซฟิสต์” แปลว่า ผู้ชำนาญ หรือชาญฉลาด แต่พวกโซฟิสต์ หมายถึงชนชั้นที่ประกอบอาชีพครู พวกนี้เป็นผู้มีอาชีพสอนเด็กหนุ่ม เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตโดยคิดค่าตอบแทนเป็นเงิน พวกนี้จะเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดประสบการณ์ในการสอนปรัชญา ในยุคหลังถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองเพราะมีนักปรัชญาที่สำคัญๆ เกิดขึ้น ดังนี้ (พีระพล คดบัว, 2548, น. 8-10)
โสเครตีส (Socrates, 470-399 ก่อนคริสตกาล)
โสเครตีสเป็นชาวเมืองเอเธนส์ เป็นตัวอย่างของผู้แสวงหาความจริงอย่างไม่ใฝ่ประโยชน์ ชีวิตของเขาอยู่ในช่วง 470-399 ปีก่อนคริสตกาล เป็นระยะที่วัฒนธรรมกรีกได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง
สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับโสเครตีสนั้นส่วนใหญ่ได้มาจากงานเขียนของเพลโต สานุศิษย์ของเขาเอง โสเครตีสไม่เคยเขียนอะไรเลย เขาเป็นผู้ที่ไม่สนใจใยดีกับเรื่องส่วนตัวของตนเองเท่าไรนัก โดยสนใจที่จะแสวงหาความรู้มากกว่าความสุขสบายทางกายและในฐานะที่เป็นพลเมืองผู้หนึ่ง เขาไม่หวั่นที่จะเรียกร้องความยุติธรรมแม้จะก่อให้เกิดผลเสียแก่ตัวเองก็ตาม
แรกทีเดียวโสเครตีสสนใจการไตร่ตรองแบบวิทยาศาสตร์ของพวกไอโอเนียนและผู้สืบทอดความคิดแบบนี้ แต่เขามักประจักษ์ว่าทฤษฎีของพวกนี้ไม่ได้ช่วยให้มนุษย์สามารถเข้าใจตัวเองได้เลย ดังนั้นเขาจึงหันเหจากวิทยาศาสตร์และหันมาศึกษาปัญหาทางจริยศาสตร์ วิธีการที่เขาใช้ในการศึกษาก็คือวิธีการของเรขาคณิตที่นักคณิตศาสตร์ใช้กันอยู่ กล่าวคือ เริ่มจากข้อสมมุติฐานและตั้งข้อสรุปจากสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีการนิรนัย
โสเครตีสก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้คนหนุ่มหัวแข็ง เมื่อชนชั้นรุ่นเก่าในกรุงเอเธนส์เสื่อมอำนาจลง ผู้ปกครองรุ่นใหม่ไม่ชอบใช้การที่โสเครตีสมีอิทธิพลต่อคนชั้นสูง นอกจากนั้นเขามักจะสร้างความยุ่งยากใจแก่ผู้ที่ร่วมสนทนาด้วย เขาถามผู้ที่คิดว่าตัวเองมีความเชี่ยวชาญ และมักจะพบเสมอๆว่า เขาเหล่านั้นไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เขาถนัดเลย โสเครตีสมีวิธีการพูดที่มีความหมายตรงกันข้ามกับคำพูดของเขา โดยเขาอ้างว่าตัวเขาเองนั้นมีความโง่อยู่มาก มิได้รู้มากกว่าคนอื่นเลย ซึ่งในแง่นี้ทำให้เขาฉลาดกว่าคนอื่นที่คิดว่าตัวเองรู้ความจริง แต่แล้วไม่รู้ การเหน็บแนม (Irony) แบบนี้เป็นอาวุธที่เขาใช้ประกอบในการโต้เถียง
โสเครตีสไม่ใช่เป็นคนไม่เชื่อศาสนา แต่เขามีแนวความคิดเป็นตัวของตัวเอง เขาไม่สนใจในศาสนาประจำรัฐอย่างจริงจัง แต่ก็มิได้แสดงปฏิกิริยาใดๆออกมา ในขณะที่เขามิได้คล้อยตามผู้อื่นในสังคมเขาก็เหมือนกับนักคิดกรีกโดยทั่วไปที่ท้าทายต่ออำนาจการปกครอง และในที่สุดก็มีข้อกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้มีความผิดและไม่เชื่อพระเจ้า มีคนกลุ่มน้อยตัดสินว่าโสเครตีสผิด และหาเขายอมรับสารภาพผิด ศาลก็ยกโทษให้ แต่เขาปฏิเสธ โสเครตีสจึงต้องดื่มยาพิษตาย ภาพการตายของเขาปรากฏอยู่ในงานเขียนของเพลโตในบทสนทนาเรื่องเฟโด (Phaedo)
เพลโต (Plato, 427-347 ก่อนคริสตกาล)
งานเขียนของเพลโตได้นำแนวคิดต่างๆก่อนยุคโสเครตีสมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพลโตเกิดในตระกูลสูงและเป็นผู้ได้รับการอบรมจากโสเครตีสตลอดมา เขาได้ตั้งโรงเรียนอะคาเดมี (Academy) ที่มีชื่อเสียงขึ้นที่เมืองอะคาเดมัสนอกกรุงเอเธนส์
งานเขียนในระยะแรกของเพลโตมีทฤษฎีแบบ (Theory of Forms) เป็นศูนย์กลางในด้านทฤษฎีความรู้ เขาได้รับแนวคิดมาจากปาร์มินิเดสและเฮราคลีตุส แบบซึ่งเป็นวัตถุของความรู้ เป็นสิ่งที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับสิ่งที่เป็น “หนึ่ง” ในความหมายของปาร์เมนิเดส ซึ่งเป็นสิ่งสมบูรณ์และเป็นอมตะ และมีอยู่ในโลกที่สูงกว่า เป็นสิ่งที่อาจเข้าใจได้ด้วยจิต ในแง่หนึ่งสิ่งที่เรารับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสบ่งถึงวัตถุเฉพาะอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ เป็นสิ่งดี เปลี่ยนแปลงได้ เช่น เปลวไฟของเฮราคลีตุสและสิ่งเหล่านี้มองจากความคิดเห็นย่อมมีความแตกต่างกันไป
เพลโตถือว่า สิ่งเฉพาะเช่น ถ้วย เป็นสิ่งที่แสดงมาจากโลกของแบบหรือภาพของความเป็นถ้วย เป็นสิ่งที่มีความมั่นคงที่ และเป็นแบบหนึ่งเดียวของถ้วยที่มีอยู่ในโลกของความคิด จุดสำคัญของทฤษฎีนี้จะเห็นได้ง่ายจากวิธีการที่เราใช้ภาษา เช่น มีถ้วยอยู่หลายถ้วยและในหลายๆถ้วยนี้ก็มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น สี รูปร่าง หรือขนาด แต่มีเพียงคำเดียวที่ใช้เรียก คือคำว่าถ้วย ถ้วยแต่ละถ้วยนี้อาจมีการแตกสลายได้ แต่แบบของถ้วยยังคงอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับคำว่า ถ้วย
อริสโตเติล (Aristotle, 384-322 ก่อนคริสตกาล)
นักศึกษาที่มีชื่อที่สุดของสำนักอะคาเดมีของเพลโตคือ อริสโตเติล เขาเกิดที่เมืองสตาจิรา ในแคว้นเทรส ได้เข้ามาในกรุงเอเธนส์ เมื่อปี 366 และอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเพลโตตาย หลังจากนั้นได้เป็นอาจารย์สอนอเล็กซานเดอร์ (ซึ่งต่อมาเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่) ขณะที่อเล็กซานเดอร์ปกครองอยู่ อริสโตเติลสอนหนังสือในกรุงเอเธนส์ที่ลีเซียมซึ่งเป็นโรงเรียนที่เขาได้ตั้งขึ้นเอง
ถึงแม้อริสโตเติลจะมีความเข้าใจวิชาคณิตศาสตร์ในฐานะเป็นสมาชิกของสำนักอะคาเดมี แต่เขามีความสนใจวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา ความสนใจนี้นำเขาไปสู่วิธีการต่างๆ ในการที่จะตอบปัญหาหลายๆแบบ หน้าที่ประการหนึ่งของนักชีววิทยาคือการจัดประเภท ดังที่เราจะพบว่าอริสโตเติลให้ความสนใจต่อปัญหาตรรกศาสตร์ว่าด้วยการแบ่งนี้ ซึ่งการจำแนกชั้นนี้มุ่งไปในการจัดประเภทของสัตว์ (ระดับของธรรมชาติ) ซึ่งก็ยังเป็นที่ยอมรับจนถึงสมัยกลาง งานของเขาด้านชีวภาพทางทะเลแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้สำรวจได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ดีความสนใจของอริสโตเติลในด้านนี้ได้นำเขาไปผิดทาง เมื่อมองจากด้านที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์กายภาพ ขณะที่ชาวไอโอเนียและเพลโตได้เข้าถึงความเป็นจริงมากกว่า เนื่องจากอริสโตเติลได้นำหลักเกณฑ์ว่าด้วยสาเหตุและจุดมุ่งหมาย (Teleology) ไปใช้ในฟิสิกส์และดาราศาสตร์ด้วย
ทฤษฎีทางปรัชญาของอริสโตเติลถือว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอยู่อย่างที่มันเป็นเพราะศักยภาพ (Potentialities) ในตัวของมันเอง เป็นต้นว่าเมล็ดของต้นโอ๊กก็มีแนวโน้มที่จะเป็นต้นโอ๊กต่อไป นั่นหมายถึงในสภาวะที่เหมาะสมมันก็จะเป็นโอ๊กต่อไป ซึ่งเป็นการแสดงถึงทฤษฎีว่าด้วยสสารและแบบของอริสโตเติล วัตถุใดก็ตามที่ประกอบด้วยสสาร หรือมวลสารใดที่มีแบบอยู่ แบบเป็นสิ่งที่ทำสิ่งนั้นให้เป็นสิ่งนั้น แบบนี้เสมือนลูกพี่ลูกน้องกับแบบของโสเครตีส แต่ขณะที่แบบของโสเครตีสเป็นสิ่งที่อยู่เหนือวัตถุ (อยู่เหนือและพ้นจากวัตถุแห่งการสัมผัส) สำหรับอริสโตเติลเป็นสิ่งที่อยู่ในวัตถุ (อยู่ในวัตถุที่เรารับรู้)
หันกลับไปมองทฤษฎีว่าด้วยสาเหตุ (Theory of causality) ของอริสโตเติลว่าด้วยความสัมพันธ์ของเหตุและผล เราทราบว่าเขาได้กล่าวถึงสาเหตุสี่ประการที่ว่าสาเหตุหนึ่งเป็นสาเหตุของอีกอันหนึ่ง สาเหตุเหล่านี้ได้แก่ สาเหตุแห่งวัตถุ (Material cause) สาเหตุแห่งแบบ (Formal cause) สาเหตุประสิทธิภาพ (Efficient cause) และสาเหตุสุดท้าย (Final cause) เช่น ลองคิดถึงกระป๋องน้ำมันที่ระเบิด เมื่อไม้ขีดไฟได้หล่นลงไป กระป๋องน้ำมันก็คือสาเหตุทางวัตถุ ซึ่งมีลักษณะที่สัมพันธ์กับไม้ขีด เป็นสภาวะที่จำเป็นเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ การตกลงไปของไม้ขีดไฟเป็นสาเหตุประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันนี้เราเรียกว่าสาเหตุ และสาเหตุสุดท้ายคือแนวโน้ม หรือ “ความต้องการ” เมื่อน้ำมันกับออกซิเจนมีปฏิกิริยาต่อกันที่ทำให้เกิดการเผาผลาญขึ้น
ปรัชญายุคกลาง
ระยะเวลาที่เรียกกันว่า ยุคกลาง เป็นสมัยเวลาอันยาวนานประมาณ 900 ปี คือเริ่มประมาณตั้งแต่คริสตวรรษที่ 5 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งสามารถแบ่งตามความเป็นไปในประวัติศาสตร์ได้เป็น 2 ระยะคือ 1.สมัยมืดมน (Dark Age) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 10 เป็นระยะเวลาอันสับสนวุ่นวายและความเสื่อมโทรมทางอารยธรรม และ 2.ยุคกลางภาคหลัง (The Later Middle Ages) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึง 14 เป็นระยะเริ่มปรากฏแสงเรืองรองแห่งอารยธรรมอันก้าวหน้าขึ้นสู่ระดับสูงขึ้นๆเป็นอันดับไป
ศาสนาคริสต์กำเนิดขึ้นในศาสนาคริสต์แรกเริ่ม ประชาชนสมัยนั้นไม่ได้เรียนหนังสือ อาศัยการเรียนจากของจริง ด้วยการดู การฟัง เช่นเมื่อต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ศาสนาก็จะศึกษาจากเรื่องราวที่บรรดาพระได้วาดรูปไว้ตามกระจกสี ส่วนทางด้านวิชาชีพก็จะไปศึกษาของจริงจากผู้ประกอบอาชีพนั้นโดยตรง มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นในยุคกลางภาคหลัง ทำให้เกิดระบบการศึกษาขึ้น การสอนเทววิทยานับเป็นหัวใจแห่งศาสตร์ทั้งหลายในยุคนี้ เพราะเป็นศาสตร์ที่อธิบายด้านศาสนาและแสดงให้เห็นถึงความฟื้นจากทุกข์ โดยนักปรัชญาส่วนมากเป็นนักบวชโดยนำหลักตรรกวิทยาของอริสโตเติลมาพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับหลักคำสอนทางศาสนาเรียกว่า ลัทธิอัสมาจารย์ (Scholasticism) เพื่ออธิบายการมีอยู่ของพระเจ้าอย่างเป็นเหตุและผล ซึ่งการศึกษาดังกล่าวมีส่วนช่วยให้นักเรียนมีความเฉียบแหลมขึ้นได้ด้วยการเรียนด้วยวิธีการคิดหาเหตุผลอย่างรอบคอบ
ปรัชญายุคใหม่
ปรัชญายุคใหม่เกิดการปฏิวัติทางภูมิปัญญา เนื่องมาจากผลของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจุดสูงสุดของการปฏิวัติทางภูมิปัญญาในทางปรัชญา เป็นกระบวนการที่เรียกว่า การรู้แจ้ง (The Enlightenment) โดยปรัชญายุคใหม่เชื่อว่าเหตุผลจะนำพาเราไปสู่ความฉลาดรอบรู้ ความรู้มีรากฐานมาจากประสาทสัมผัส แต่ความรู้จากการสัมผัสเป็นเพียงวัตถุดิบ ที่จะต้องกลั่นกรองด้วยเหตุผลเสียก่อน จึงจะได้คุณค่าที่จะนำมาอธิบายโลก หรือนำมาปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น ปรัชญายุคใหม่เกิดปรัชญาขึ้นหลายสำนักได้แก่ ปรัชญาสายเหตุผลนิยม มีนักปรัชญาที่สำคัญ อาทิเช่น เรเน่ เดส์คาร์ตส์, สปิโนซา, ไลบ์นิซ ปรัชญาสายประสบการณ์นิยม มีนักปรัชญาที่สำคัญ อาทิเช่น โทมัส ฮอบส์, จอห์น ลอค, จอร์จ เบิร์กเล่ย์ และเดวิด ฮูม เป็นต้น
ทักษะที่ใช้ในการวิเคราะห์ปรัชญา
ทักษะที่ใช้ในการศึกษาปรัชญา
1.การวิเคราะห์
ปรัชญาเป็นการใช้ความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหา ซึ่งมันช่วยให้เราคลายปมในจิตใจ
ช่วยให้เรารู้วิธีการศึกษา โดยศึกษาเข้าไปถึงแก่นของเรื่องนั้นๆ ว่า เรื่องนั้นมีความสำคัญอย่างไร และเราสามารถยุติปัญหาและเข้าไปแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างไร
2.การประเมิน
ปรัชญาฝึกให้เรารู้จักวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังฝึกให้เรารู้จักประเมินข้ออ้างที่มีความ
สมเหตุสมผล เช่น มนุษย์มีเจตจำนงเสรีหรือไม่ หรือการกระทำของเราถูกกำหนดโดยกรรมพันธุ์และสภาพแวดล้อม พระเจ้ามีอยู่จริงหรือไม่
3.การโต้แย้ง
ปรัชญาคือการโต้แย้ง (Argument) เป็นการแสวงหาเหตุผลอย่างหนึ่งของความคิด ซึ่งเรา
จะต้องจัดวางหลักฐานที่สนับสนุนความจริงของข้อสรุป เป้าหมายของการโต้แย้งไม่ใช่เป็นการเอาชนะกัน แต่เพื่อความคืบหน้าของความรู้
ประเภทของปรัชญา
ประเภทของปรัชญา
ปรัชญาแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท ได้แก่
1.ปรัชญาบริสุทธ์ (Pured Philosophy) ได้แก่ ความรู้หรือแนวความคิดที่เป็นเนื้อหาของ
ปรัชญาล้วนๆ ที่ยังไม่เข้าไปผสมผสานกับศาสตร์อื่นๆ เนื้อหาที่อยู่ในปรัชญาบริสุทธิ์ได้แก่ อภิปรัชญา ว่าด้วยเรื่องความจริงของโลกและชีวิต ญาณวิทยาหรือทฤษฎีความรู้ ว่าด้วยเรื่องความรู้และที่มาของความรู้ และคุณวิทยา ประกอบด้วย จริยศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ ตรรกวิทยา ว่าด้วยเรื่องการหาความจริงด้วยการใช้เหตุผล และสุนทรียศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องความงาม
2.ปรัชญาประยุกต์ (Applied Philosophy) ได้แก่ ความรู้หรือแนวคิดอันเป็นปรัชญา
บริสุทธิ์ถูกผสมผสานหรือประยุกต์กับวิชาหรือศาสตร์อื่นๆ แล้วจึงถูกแยกมาเป็นปรัชญาอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “ปรัชญาประยุกต์” เช่น ปรัชญาศาสนา ปรัชญาวิทยาศาสตร์ ปรัชญาการศึกษา ปรัชญาการเมือง เป็นต้น
ลักษณะของปรัชญา
ลักษณะของปรัชญา
1.ปรัชญามีลักษณะวิพากษ์
ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของปรัชญาคือ การวิพากษ์วิจารณ์ การสืบสวนสอบสวน
ซึ่งเป็นลักษณะที่จะนำไปสู่ความรู้จริงและข้อเท็จจริงต่างๆ ลักษณะที่ว่านี้เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่เกิด และมีเฉพาะมนุษย์เท่านั้น ส่วนสัตว์อื่นๆ ไม่มีลักษณะเช่นนี้ ความอยากรู้อยากเห็นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์ต้องการนำความรู้เพื่อไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและตอบสนองความอยากรู้ของมนุษย์
2.ปัญหาทางปรัชญาเป็นปัญหาพื้นฐาน
ปัญหาพื้นฐานเป็นปัญหาที่กระทบกับปัญหาเรื่องอื่นๆ และเป็นปัญหาที่กำหนดวิธีคิด
และการดำเนินชีวิตของเรา ตัวอย่างเช่น เรื่องเจตจำนงเสรี (Free will) เป็นปัญหาพื้นฐานเพราะปัญหานี้โยงไปถึงทัศนะของเราเกี่ยวกับศีลธรรม กฎหมาย การลงโทษ การให้รางวัล ตลอดจนเป็นปัญหาสังคม
3.ปรัชญาแสวงหาโลกทัศน์
การโต้แย้งกันเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานไม่สามารถให้คำตอบที่เด็ดขาดได้ เช่นเดียวกับ
การแสวงหาโลกทัศน์ ที่เป็นระบบความเชื่อในวิถีชีวิตของคนๆหนึ่ง เป็นตัวกำหนดทิศทางชีวิตของแต่ละคน และเป็นตัวกำหนดทิศทางของสังคมมนุษย์ด้วย ซึ่งแต่ละคนอาจมองแตกต่างกันไป
แนะนำปรัชญา
หลายคนเมื่อได้ยินคำว่า “ปรัชญา” มักจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยากและไกลตัวเกินกว่าจะเข้าใจ แต่แท้จริงปรัชญาเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและอยู่รอบตัวเรานั่นเอง มีคำพูดที่เคยได้ยินกันว่า ปรัชญาของนักการพนัน “เงินไปเที่ยว เดี๋ยวเดียวก็กลับ” ปรัชญานักการเมือง “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” หรือปรัชญาความรัก “ความรักคือสวนดอกไม้ที่ต้องรดด้วยน้ำตา” เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าคำพูดเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงหลักคิดและหลักการดำเนินชีวิตของแต่ละคนนั่นเอง
หากพิจารณาคำว่า “ปรัชญา” มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า Philosophia ซึ่งประกอบด้วยคำภาษากรีกสองคำคือ Philos ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Love of หรือ Loving of แปลเป็นภาษาไทยว่า ความรัก กับคำว่า Sophia ตรงกับภาษอังกฤษว่า Wisdom, Knowledge แปลว่าปัญญา ความรู้ ความฉลาดปราดเปรื่อง ฉะนั้นเมื่อเอาสองคำมารวมกัน มีความหมายว่า Love of Wisdom แปลว่าความรักในความรู้ ความรักในปัญญา ความรักในความปราดเปรื่อง (สถิต วงศ์สวรรค์, 2543, น.4)
มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “ปรัชญา” ไว้ดังนี้
เพลโต (Plato) นักปรัชญากรีก กล่าวว่า ปรัชญา คือ การศึกษาหาความรู้เรื่องสิ่งนิรันดรและความเป็นจริงของสิ่งเหล่านั้นหรือธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย หรือปรัชญามุ่งจะรู้สิ่งนิรันดรและธรรมชาติแท้จริงของสิ่งทั้งหลาย หรือปรัชญามีจุดหมายมุ่งสู่ความรู้แห่งสภาวะนิรันดรและธรรมชาติอันเป็นแก่นสารของสิ่งต่างๆ (สถิตย์ วงศ์สวรรค์, 2543, น. 6)
วิลเลียม เจมส์ (William James) กล่าวว่า ปรัชญา คือ หลักการที่ใช้อธิบายความเป็นมาของสรรพสิ่งทั้งปวง โดยไม่มีการยกเว้นสิ่งอันใด องค์ประกอบร่วมกันที่มีอยู่ในเทพเจ้า มนุษย์ สัตว์ และดวงดาว จุดเริ่มต้นและจุดจบของความเป็นไปในสากลจักรวาลทั้งหมด สภาวะแห่งความรู้ทั้งมวลและหลักเกณฑ์ทั่วไปของการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ (สถิตย์ วงศ์สวรรค์, 2543, น. 6)
บุญมี แท่นแก้ว และสถาพร มาลีเวชพงศ์ กล่าวว่า ปรัชญา คือ วิชาที่คิดหาเหตุผลตามหลักตรรกวิทยาเพื่อเข้าถึงความจริง (บุญมี แท่นแก้ว และสถาพร มาลีเวชพงศ์, 2530, น. 3)
จากที่กล่าวมาสามารถสรุปได้ว่า ปรัชญา หมายถึง ปรัชญาเป็นวิชาที่ว่าด้วยการใช้เหตุผลและปรัชญาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาหาความจริงของโลกและมนุษย์
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)