จุดประสงค์ของการจัดทำบล็อกนี้ เพื่อต้องการเผยแพร่ความรู้ทางปรัชญาแก่นักศึกษาและผู้สนใจโดยทั่วไป
ทักษะที่ใช้ในการวิเคราะห์ปรัชญา
ทักษะที่ใช้ในการศึกษาปรัชญา
1.การวิเคราะห์
ปรัชญาเป็นการใช้ความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหา ซึ่งมันช่วยให้เราคลายปมในจิตใจ
ช่วยให้เรารู้วิธีการศึกษา โดยศึกษาเข้าไปถึงแก่นของเรื่องนั้นๆ ว่า เรื่องนั้นมีความสำคัญอย่างไร และเราสามารถยุติปัญหาและเข้าไปแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างไร
2.การประเมิน
ปรัชญาฝึกให้เรารู้จักวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังฝึกให้เรารู้จักประเมินข้ออ้างที่มีความ
สมเหตุสมผล เช่น มนุษย์มีเจตจำนงเสรีหรือไม่ หรือการกระทำของเราถูกกำหนดโดยกรรมพันธุ์และสภาพแวดล้อม พระเจ้ามีอยู่จริงหรือไม่
3.การโต้แย้ง
ปรัชญาคือการโต้แย้ง (Argument) เป็นการแสวงหาเหตุผลอย่างหนึ่งของความคิด ซึ่งเรา
จะต้องจัดวางหลักฐานที่สนับสนุนความจริงของข้อสรุป เป้าหมายของการโต้แย้งไม่ใช่เป็นการเอาชนะกัน แต่เพื่อความคืบหน้าของความรู้
ประเภทของปรัชญา
ประเภทของปรัชญา
ปรัชญาแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท ได้แก่
1.ปรัชญาบริสุทธ์ (Pured Philosophy) ได้แก่ ความรู้หรือแนวความคิดที่เป็นเนื้อหาของ
ปรัชญาล้วนๆ ที่ยังไม่เข้าไปผสมผสานกับศาสตร์อื่นๆ เนื้อหาที่อยู่ในปรัชญาบริสุทธิ์ได้แก่ อภิปรัชญา ว่าด้วยเรื่องความจริงของโลกและชีวิต ญาณวิทยาหรือทฤษฎีความรู้ ว่าด้วยเรื่องความรู้และที่มาของความรู้ และคุณวิทยา ประกอบด้วย จริยศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ ตรรกวิทยา ว่าด้วยเรื่องการหาความจริงด้วยการใช้เหตุผล และสุนทรียศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องความงาม
2.ปรัชญาประยุกต์ (Applied Philosophy) ได้แก่ ความรู้หรือแนวคิดอันเป็นปรัชญา
บริสุทธิ์ถูกผสมผสานหรือประยุกต์กับวิชาหรือศาสตร์อื่นๆ แล้วจึงถูกแยกมาเป็นปรัชญาอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “ปรัชญาประยุกต์” เช่น ปรัชญาศาสนา ปรัชญาวิทยาศาสตร์ ปรัชญาการศึกษา ปรัชญาการเมือง เป็นต้น
ลักษณะของปรัชญา
ลักษณะของปรัชญา
1.ปรัชญามีลักษณะวิพากษ์
ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของปรัชญาคือ การวิพากษ์วิจารณ์ การสืบสวนสอบสวน
ซึ่งเป็นลักษณะที่จะนำไปสู่ความรู้จริงและข้อเท็จจริงต่างๆ ลักษณะที่ว่านี้เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่เกิด และมีเฉพาะมนุษย์เท่านั้น ส่วนสัตว์อื่นๆ ไม่มีลักษณะเช่นนี้ ความอยากรู้อยากเห็นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์ต้องการนำความรู้เพื่อไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและตอบสนองความอยากรู้ของมนุษย์
2.ปัญหาทางปรัชญาเป็นปัญหาพื้นฐาน
ปัญหาพื้นฐานเป็นปัญหาที่กระทบกับปัญหาเรื่องอื่นๆ และเป็นปัญหาที่กำหนดวิธีคิด
และการดำเนินชีวิตของเรา ตัวอย่างเช่น เรื่องเจตจำนงเสรี (Free will) เป็นปัญหาพื้นฐานเพราะปัญหานี้โยงไปถึงทัศนะของเราเกี่ยวกับศีลธรรม กฎหมาย การลงโทษ การให้รางวัล ตลอดจนเป็นปัญหาสังคม
3.ปรัชญาแสวงหาโลกทัศน์
การโต้แย้งกันเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานไม่สามารถให้คำตอบที่เด็ดขาดได้ เช่นเดียวกับ
การแสวงหาโลกทัศน์ ที่เป็นระบบความเชื่อในวิถีชีวิตของคนๆหนึ่ง เป็นตัวกำหนดทิศทางชีวิตของแต่ละคน และเป็นตัวกำหนดทิศทางของสังคมมนุษย์ด้วย ซึ่งแต่ละคนอาจมองแตกต่างกันไป
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)