จุดประสงค์ของการจัดทำบล็อกนี้ เพื่อต้องการเผยแพร่ความรู้ทางปรัชญาแก่นักศึกษาและผู้สนใจโดยทั่วไป
ปรัชญาสุขนิยมของไลบ์นิซ
ไลบ์นิซเป็นนักปรัชญาชาวเยอรมันสายเหตุผลนิยม ที่พยายามประนีประนอมระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนาเข้าด้วยกัน กล่าวคือทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายสสารวัตถุว่า เป็นสิ่งที่กินที่และมีการเคลื่อนไหว ไลบ์นิซได้อธิบายคล้ายคลึงกับพวกอะตอมมิสต์ของกรีกโบราณที่อธิบายว่า สิ่งแท้จริงคืออะตอม แตกต่างกันที่ว่าเขาเรียกว่า โมนาด คุณสมบัติของโมนาดไม่ได้เป็นสสาร ไม่มีขนาด ไม่มีรูปร่าง ไม่กินที่ เป็นจิต เป็นนามธรรม ไม่มีองค์ประกอบ แต่เป็นหน่วยย่อยเชิงเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้ โมนาดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จากภายนอก แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จากภายใน ซึ่งพระเจ้าทรงเป็นโมนาดแห่งโมนาดทั้งหลาย ทรง
อยู่ในฐานะเป็นโมนาดที่มีลักษณะเป็นปัจเจกบุคคล แต่ล่วงพ้นโมนาดทั้งหลายเพราะอยู่เหนือธรรมชาติและอยู่เหนือเหตุผล การเปลี่ยนแปลงของโลกถูกกำหนดโดยพระเจ้า เนื่องจากพระเจ้าทรงมีอำนาจสูงสุดและสามารถบันดาลได้ทุกอย่าง ที่พระเจ้าเลือกสร้างโลกนี้เพราะเห็นว่าเป็นโลกที่ดีที่สุด (The Best Possible World) เท่าที่จะเป็นไปได้ ผู้อ่านท่านใดสนใจแนวคิดทางปรัชญาของไลบ์นิซสามารถหาอ่านได้จากนวนิยายเรื่องก็องดิดด์ของวอลแตร์ ได้สะท้อนปรัชญาสุขนิยมของไลบ์นิซได้เป็นอย่างดี
ทฤษฎีนัยบำบัด (Logotherapy)
ผู้เขียนได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่อง Life is Beautiful อยู่หลายครั้งและประทับใจทุกครั้งที่ได้ชม รู้สึกได้กำลังใจและข้อคิดในการดำเนินชีวิต สำหรับคนที่ท้อแท้และสิ้นหวังในชีวิต ลองหามาชมกันนะค่ะ
ประเด็นสำคัญที่พบจากการชมภาพยนตร์คือการแสวงหาความหมายของชีวิต ซึ่งการพยายามทำความเข้าใจความหมายของชีวิตนับเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์ดำรงตนอยู่ได้ เพราะว่าสิ่งที่เป็นความหมายของชีวิตจะช่วยอธิบายว่าทำไมชีวิตจึงควรดำเนินต่อไป และในอีกทางหนึ่งสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมายก็จะเป็นคำตอบว่าชีวิตมนุษย์จะดำรงอยู่ไปเพื่ออะไร หากบุคคลใดขาดความหมายหรืออะไรบางอย่างที่เขาจะมีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งนั้นแล้ว เขาจะไม่มีสิ่งที่ดึงเขาให้มีกำลังใจดำรงชีวิตอยู่อย่างมั่นคงและมุ่งมั่น
ในที่นี้จะขอยกทฤษฎีบำบัด (Logotherapy) เป็นทฤษฎีทางจิตบำบัด ที่ต้องการให้คนที่สิ้นหวังในชีวิตได้ค้นพบความหมายของชีวิตและเป็นแรงจูงใจให้อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
ทฤษฎีนัยบำบัด (Logotherapy) มีความหมายหลักมาจากคำภาษากรีกว่า “โลกอส (Logos)” หมายถึง “ความหมาย (Meaning)” และคำว่า “นูออส (Noos)” หมายถึง “จิตวิญญาณ (Spirit หรือ Noetic)” ทฤษฎีนัยบำบัดสร้างมาจากประสบการณ์ของตัวท่านเองในค่ายกักกันนาซี แฟรงเกิ้ลสังเกตเห็นว่า นักโทษที่อยู่ค่ายกักกันสามารถดิ้นรนอยู่ได้ โดยคนที่สามารถทนทุกข์จากความสิ้นหวังและเฉยชาได้นั้น คือคนที่สามารถพบความหมายบางอย่างในความทุกข์ทรมาน ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เขาอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ทฤษฎีนัยบำบัดจึงเกิดขึ้นเพื่อเยียวยาจิตใจผ่านการตระหนักถึงชีวิตด้านจิตวิญญาณของมนุษย์ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เขาได้ค้นพบความหมายของชีวิตและต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไป
ทฤษฎีนัยบำบัดมีพื้นฐานอยู่บนหลักปรัชญาชีวิต ซึ่งประกอบด้วยสมมุติฐานสามประการคือ
1) เสรีภาพของเจตจำนง (Freedom of Will)
2) เจตจำนงต่อความหมาย (Will to Meaning)
3) ความหมายของชีวิต (Meaning of Life)
เสรีภาพของเจตจำนง
ในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้น มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่ต้องเผชิญอยู่ทุกขณะได้ ซึ่งการตัดสินใจของมนุษย์ไม่ได้ถูกกำหนดจากเงื่อนไขใดๆ ไม่ว่าจะเป็นอดีต หรือสัญชาตญาณ เป็นต้น มนุษย์เป็นสัตที่ก้าวขึ้นอยู่เหนือตนเอง (Self-Transcending Being) และสามารถตัดสินใจที่จะกำหนดตนเองอย่างที่ต้องการจะเป็นได้ (Self-Determining)แฟรงเกิ้ลได้แสดงให้เห็นในเรื่องนี้ว่า “หลายเดือนที่ผ่านมา แฟรงเกิ้ลนั่งจิบกาแฟกับนักจิตวิเคราะห์อเมริกันที่มีชื่อเสียงในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ขณะนั้นเป็นเช้าวันอาทิตย์และอากาศดี แฟรงเกิ้ลชวนนักจิตวิเคราะห์ผู้นั้นไปเดินทางปีนเขา แต่เขาได้ปฏิเสธด้วยอารมณ์ อย่างไรก็ตาม เขาชี้ไปที่ความรังเกียจที่อยู่ในส่วนลึกของเขาในการปีนเขาเนื่องจากประสบการณ์ในวัยเด็ก ขณะที่เขาเป็นเด็กนั้น พ่อได้นำเขาเดินทางด้วยระยะอันยาวไกลและนับแต่นั้นเขาก็เริ่มเกลียดการเดินทาง” หรือจากประสบการณ์ในค่ายกักกันจะพบว่า “ขณะที่ผู้คุมบางคนทำตัวเยี่ยงปีศาจ แต่ก็มีผู้คุมบางคนทำตัวเยี่ยงนักบุญ” จากตัวอย่างในเรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า มนุษย์เป็นผู้มีอิสระในการตัดสินเลือกทางเดินชีวิตของตนเอง
เจตจำนงต่อความหมาย
เจตจำนงต่อความหมายเป็นแรงจูงใจภายในของมนุษย์ที่กำหนดให้เขาตอบสนองต่อสิ่งต่างๆรอบๆตัว และเอื้ออำนวยการดำรงอยู่ของเขา (อรัญญา ตุ้ยคัมภีร์, 2553, หน้า 5) ซึ่งเจตจำนงต่อความหมายเป็นแรงบันดาลใจอันล้ำลึก (Deeply inspires) หรือความปรารถนาดั้งเดิม (Innate desire) ของมนุษย์ ซึ่งทำให้เขาบรรลุถึงความหมายเป็นคุณสมบัติทางจิตวิญญาณ (Spirit) ที่ทำให้มนุษย์มีอิสระจากการนึกถึงแก่ตัวเอง (Self-detachment) ทำให้เขามีชีวิตอยู่เหนือตัวตน (Self-transcendence) และอยู่เหนือข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมภายนอก หรือข้อจำกัดที่มาจากความบกพร่องด้านชีววิทยา ด้านสรีรวิทยาของตนเอง (อรัญญา ตุ้ยคัมภีร์, 2553, หน้า 5) ถ้าบุคคลเก็บกดหรือหรือละเลยเจตจำนงต่อความหมายนี้ เขาจะมีชีวิตอย่างไร้ทิศทาง แปลกแยกกับตนเองหรือโลกรอบๆตัว รู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง หรือเกิดความรู้สึกว่างเปล่า
ความหมายของชีวิต
ความหมายของชีวิตแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ในแต่ละวัน และในแต่ละชั่วโมง ความหมายของชีวิตไม่ได้มีลักษณะทั่วไป แต่ค่อนข้างจะเป็นความหมายเฉพาะของชีวิตแต่ละคนที่ถูกให้ขณะนั้น การถามคำถามกว้างๆก็เหมือนกับการถามแชมป์หมากรุกว่า “เดินหมากตัวไหนอย่างไรจึงจะดีที่สุดในโลก” เราจะเห็นได้ว่าแม้แต่แชมป์ก็ไม่อาจบอกได้ เพราะการที่จะเดินหมากตัวไหน อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของหมากรุกและบุคลิกลักษณะเฉพาะของคู่ต่อสู้นั้นๆ สภาพชีวิตของมนุษย์ก็เช่นกัน มนุษย์ไม่ควรที่จะหาความหมายของชีวิตแบบกว้างๆ หรือทั่วไป แต่สิ่งที่ควรตระหนักก็คือทุกคนมีภารกิจที่จะต้องทำให้ความหมายของชีวิตของเขาสำเร็จไปอย่างบริบูรณ์ ไม่มีใครจะทำหน้าที่นี้แทนตนได้ ทุกๆคนมีภารกิจเฉพาะในชีวิต ทุกคนต้องปฏิบัติให้ลุล่วงในงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องการบรรลุผลสำเร็จ (Victor Emil Frankl, 1968, p. xv.)
บุคคลสามารถค้นพบความหมายของชีวิตในประสบการณ์แต่ละขณะ ในรูปของคุณค่าต่างๆ 3 แนวทาง ดังต่อไปนี้ (อรัญญา ตุ้ยคัมภีร์, 2553, หน้า 7-10)
1) คุณค่าเชิงสร้างสรรค์ (Creative value)
ความหมายในชีวิตในแนวนี้เป็นการให้คุณค่าแก่การทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยการพยายามทำสิ่งนั้นให้ดีกว่าเดิม หรือด้วยการทำงานในหน้าที่ด้วยความกระตือรือร้น หรือการสร้างผลงานต่างๆที่มาจากความปรารถนาหรือความต้องการภายในขอตนเอง คุณค่าเชิงสร้างสรรค์เกิดจากการทำให้ศักยภาพออกมาเป็นผลงานรูปธรรม ตัวอย่างเช่นสถานการณ์ที่แฟรงเกิ้ลค้นพบว่าความหมายในชีวิตนั้นอยู่ที่การให้คุณค่าแก่งานที่เขารัก คือการเขียนตำราเกี่ยวกับจิตบำบัดแนวความหมายในชีวิต การทุ่มเทใจกับงานที่เขารัก ช่วยให้เขามีชีวิตรอด และดำรงต่อไปได้ในสถานการณ์ที่โหดร้ายของค่ายกักกัน ดังนี้
ในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ.1945 มีการระบาดของโรคไทฟอยด์ในกลุ่มนักโทษที่อ่อนแอและต้องกรำงานหนัก นักโทษที่ป่วยประมาณ 1 ใน 4 ไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ ทำงานหนักหนักและได้รับอาหารเพียงเล็กน้อย ทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีไข้สูงจนเกิดอาการเพ้อด้วยพิษไข้ เพื่อนคนหนึ่งของผมได้รับความทุกข์ทรมานจากอาการเพ้อเช่นกัน เขาคิดว่าเขากำลังจะตาย และต้องการสวดอ้อนวอนพระเจ้า แต่เขานึกประโยคสำหรับสวดไม่ได้เลย เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงจากอาการเพ้อ ผมและเพื่อนอีกหลายคนได้พยายามอดนอน พวกเราไม่หลับกันทั้งคืน ช่วงเวลานั้นผมนึกถึงประโยค หรือ คำสำคัญเกี่ยวกับสิ่งที่ผมจะบรรยายในเรื่องของจิตบำบัด เป็นประโยคคร่าวๆ ไว้ในใจ ในที่สุดผมก็ได้เริ่มต้นสร้างต้นฉบับตำราทางจิตบำบัดแนวความหมายในชีวิตที่ผมเคยสูญเสียมันไปที่ค่ายออสวิทซ์ และผมได้เขียนคำย่อๆ ด้วยมือลงในกระดาษเล็กๆเท่าที่จะหาได้ และเก็บรวบรวมไว้
แฟรงเกิ้ลกล่าวถึงคุณค่าเชิงสร้างสรรค์เป็นคุณค่าที่บุคคลรับรู้จากการกระทำบางสิ่งอย่างทุ่มเท อย่างตระหนักว่า เขามีหน้าที่กระทำสิ่งต่างๆ เพื่อทำให้ชีวิตของเขามีความหมาย คุณค่าเชิงสร้างสรรค์ถือได้ว่าเป็นความหมายที่บุคคลได้กระทำสิ่งต่างๆให้แก่ชีวิต
2) คุณค่าเชิงประสบการณ์ (Experience value)
ความหมายของชีวิตในแนวทางนี้เป็นการให้คุณค่าแก่การดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นและโลกรอบๆตัวในรูปของมนุษยสัมพันธ์ ในรูปความรู้สึกดื่มด่ำในคุณความดี ในรูปความรู้สึกต่อตนเองในฐานะมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง ตัวอย่างเช่น การมีส่วนร่วมรับรู้ความรู้สึกในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ความรู้สึกปิติยินดีในประสบการณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวในขณะฟังดนตรีหรือขณะทำสมาธิเหล่านี้ เป็นต้น
สถานการณ์ของการค้นพบความหมายในชีวิตผ่านคุณค่าเชิงประสบการณ์ของแฟรงเกิ้ลนั้น แฟรงเกิ้ลปรับเปลี่ยนมุมมองด้านลบในถานการณ์ของค่ายกักกันชาวยิวของทหารนาซีไปสู่การเฝ้าคิดถึงภรรยาผู้เป็นที่รัก เขาพบว่าความรักของเขาที่มีต่อภรรยา ..และที่ภรรยามีต่อเขาเป็นความหมายในชีวิตของเขาในขณะนั้น การนึกถึงความรักและตระหนักว่าเขามีมันอยู่ ทำให้เขารอดพ้นจากการตรอมใจ หรือความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นจากการมีชีวิตในค่ายกักกัน
แฟรงเกิ้ลกล่าวถึงคุณค่าเชิงประสบการณ์ เป็นคุณค่าที่บุคคลได้รับจากการมีประสบการณ์บางอย่าง หรือประสบการณ์กับบางคน ในด้านความรัก ความดีความงดงาม หรือสัจธรรมต่างๆ คุณค่าเชิงประสบการณ์ถือได้ว่าเป็นความหมายที่บุคคลได้รับจากการมีส่วนร่วมกับโลกรอบๆตัวของเขา
3) คุณค่าเชิงทัศนคติ (Attitude value)
ความหมายในชีวิตในแนวนี้ เป็นการให้คุณค่าทัศนคติต่อโชคชะตาต่อสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการดำรงชีวิต เช่น ความวิตกกังวล ความรู้สึกผิด ความตายและต่อสภาพชีวิตที่ทุกข์ทรมาน เช่น จากความเจ็บป่วยที่รักษาไม่หาย คุณค่าทัศนคติเป็นการเลือกท่าที ความนึกคิด ปฏิกิริยาของตนเองต่อสภาพชีวิตด้วยความรู้สึกที่มั่นคง อดทนและยืนหยัด คุณค่าทัศนคติเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลค้นพบความหมายในชีวิตที่ลึกซึ้ง คุณค่าเชิงทัศนคติเป็นคุณค่าที่เกิดจากการที่บุคคลเผชิญกับสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สถานการณ์ของความสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตนเป็นเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำแล้วเขาสามารถปรับทัศนคติต่อชีวิต หรือค้นพบความหมายบางอย่าง ที่ทำให้เขาก้าวพ้นจากสถานการณ์ที่หมดหวังได้ เขาสามารถเผชิญกับสถานการณ์นั้นด้วยทัศนะที่แสดงถึงการยอมรับและอยู่กับมันได้อย่างไม่รู้สึกแปลกแยก แฟรงเกิ้ลกล่าวถึงคุณค่าเชิงทัศนคติ เป็นคุณค่าที่บุคคลเลือกยืนหยัดต่อชะตากรรมอย่างเชื่อถือในชีวิตว่าเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวของมันเอง เขากล่าวว่า “ประสบการณ์ในค่ายกักกัน ทำให้ผมพบว่าเมื่อชีวิตลดทอนลงสู่การดำรงอยู่ล้วนๆ และเมื่อไม่มีความหมายอันใดหลงเหลืออยู่กับตัวเองอีก นั่นจะมีอิสระที่แท้ ที่เรียกว่าอิสรภาพของการเลือกทัศนะบางอย่างเพื่อยืนหยัดต่อชะตากรรมตรงหน้า อิสรภาพนี้อาจไม่ได้ทำให้ชะตากรรมเปลี่ยน หากผมพบว่ามันได้เปลี่ยนแปลงบุคคลอย่างสิ้นเชิง”
แฟรงเกิ้ลกล่าวถึงสถานการณ์ที่คนหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น สภาพแวดล้อมที่สุดขั้วของความโหดร้ายในค่ายกักกัน ผู้คนส่วนใหญ่ที่รอดชีวิตเป็นผู้ที่มีทัศนะต่อชีวิตในลักษณะที่มีความหวัง เขาเป็นผู้ที่รู้สึกว่าเขามีอะไรบางอย่าง มีเป้าหมายบางอย่างรอคอยเขาอยู่ ตรงข้ามกับบุคคลที่ความหมายชีวิตถูกปิดกั้นหรือไม่มีความหวังหลงเหลืออยู่ แฟรงเกิ้ลได้ยกตัวอย่างเพื่อนนักโทษในค่ายกักกัน ซึ่งได้เล่าความฝันของเขาว่า เขาฝันในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1945 เป็นความฝันที่เขาฝังใจมากเนื่องจากในฝันได้มีเสียงบอกคำทำนายทุกสิ่งที่เขาสงสัยและเขาถามว่าเมื่อไหร่สงครามจะยุติ คำตอบในความฝันคือวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ.1945 ย่างเข้าเดือนมีนาคม ค.ศ.1945 สงครามไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุด เขาเริ่มหมดหวัง วันที่ 29 มีนาคม ค.ศ.1945 เขามีไข้และท้องเสีย วันที่ 30 มีนาคม ค.ศ.1945 เขาเริ่มไม่รู้สึกตัว และในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ.1945 เขาได้เสียชีวิตลงด้วยไข้ไทฟอยด์วันที่ 30 มีนาคม ค.ศ.1945 เป็นวันที่เขาไม่รู้สึกตัวและเป็นสัญญาณถึงสงครามได้สิ้นสุดลงสำหรับเขา
นอกจากนี้แฟรงเกิ้ลได้ยกตัวอย่างการค้นพบความหมายผ่านคุณค่าเชิงทัศนคติจากการเผชิญโชคชะตาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การสูญเสียบุคคลที่รัก แฟรงเกิ้ลเล่าว่า
ครั้งหนึ่งมีแพทย์เวชปฏิบัติสูงอายุท่านหนึ่ง มาปรึกษาผมด้วยอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรงเขาไม่สามารถรับภาวะของการสูญเสียภรรยา ที่เสียชีวิตลงเมื่อราว 2 ปีก่อนได้ เขารักภรรยาของเขามาก ขณะนั้นผมไม่แน่นใจว่าจะสามารถช่วยเขาได้หรือไม่ ผมไม่แน่ใจว่าควรจะให้คำแนะนำอย่างไรแก่เขา ผมตัดสินใจที่จะไม่บอกสิ่งต่างๆแก่เขา หากผมเผชิญหน้ากับเขาด้วยคำถามผมถามเขาว่า “ท่านครับ อะไรจะเกิดขึ้นกับท่าน หากว่าท่านเป็นผู้ที่เสียชีวิตก่อน และภรรยาองท่านต้องอยู่คนเดียว” เขาตอบว่า “โอ..สำหรับเธอแล้ว สิ่งนี้จะรบกวนเธอมาก เธอจะได้ความทุกข์ทรมานไม่น้อยกว่าฉันเลยทีเดียว” ผมพูดกับเขาว่า “ท่านครับ ท่านเห็นความทุกข์ทรมานมากมายที่จะเกิดขึ้นกับเธอ และท่านก็เป็นผู้ที่รับภาระความเจ็บปวดนี้เพื่อเธอ ตอนนี้ท่านเป็นคนที่มีชีวิตอยู่ และได้รับความเศร้าโศกแทนเธอ” แน่นอน ที่สุดแล้วผมไม่อาจเปลี่ยนโชคชะตาของเขาได้ ผมไม่อาจชุบชีวิตภรรยาเขาได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเขาก็ได้เปลี่ยนทัศนะต่อโชคชะตาของเขา เขาเห็นความหมายของความเจ็บปวดที่ได้รับ เป็นความหมายของการเสียสละ แฟรงเกิ้ลกล่าวถึงคุณค่าเชิงทัศนคติ เป็นคุณค่าที่บุคคลรับรู้ผ่านการยืนหยัดต่อโชคชะตาที่เขาเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ในรูปของการเสียสละ หรือ การมีความหวัง เป็นต้น
ผู้ที่สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จาก วรรณวิสาข์ ไชยโย. (2544). ความหมายของชีวิตในทฤษฎีนัยบำบัด. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
อุดมคติของชีวิต (ต่อ) ลัทธิอสุขนิยมเห็นว่า ความสุขไม่ใช่สิ่งดีที่สุดของชีวิต มีสิ่งอื่นที่มีค่ามากกว่า เช่น ความสงบทางจิตหรือปัญญาความรู้ ได้แก่ ปัญญานิยมเห็นว่า ความรู้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์พึงแสวงหา นักปัญญานิยม ได้แก่ โสเกรตีส เพลโต อริสโตเติล ในทางปรัชญา เห็นว่าคุณสมบัติเฉพาะที่ทำให้สิ่งๆ หนึ่งแตกต่างจากสิ่งอื่นๆ ในประเภทเดียวกันนั้น คือ สาระ หรือสารัตถะ (Essence) ของสิ่งนั้นๆ สาระของความเป็นมนุษย์ก็คือการใช้ความคิด เหตุผล การใช้สติปัญญา และการแสวงหาความรู้ วิมุตินิยมเห็นว่า เป้าหมายของชีวิตคือความสงบจิต สอนให้มองสรรพสิ่งภายใต้กฎธรรมชาติ เช่น ความแก่ชรา แตกสลายหรือเน่าเสีย เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นวิถีชีวิตที่มุ่งสละโลก ใช้ชีวิตเรียบง่าย วิมุตินิยมแบ่งออกเป็น 2 ลัทธิด้วยกันคือ ซินนิค เกิดจากลักษณะเบื่อหน่ายสังคม ดำเนินชีวิตเรียบง่าย ชีวิตเรียบง่ายเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง ไม่ได้เป็นวิถี (means) ไปสู่สิ่งใด ดำเนินชีวิตที่มีลักษณะหนี (negative) มากกว่าลักษณะเข้า (positive) และสโตอิค เชื่ออำนาจปัญญาของมนุษย์ ในการเข้าใจความจริงของกฎธรรมชาติ มนุษย์ควรเอาชนะใจตนเอง และควรฝึกฝนคุณธรรม 3 ประการ คือ ความอดทน ต่อความเจ็บปวด หรือความขัดแย้ง ความอดกลั้น เมื่อพบสิ่งยั่วยวนใจ และความยุติธรรมเมื่อสมาคมกับผู้อื่น สอนให้ช่วยเหลือผู้อื่นตามความสามารถของตน อัตถิภาวนิยม ฌอง ปอล ซาร์ตร์ บิดาปรัชญาอัตถิภาวนิยมกล่าวว่า “มนุษย์คือเสรีภาพ (Man is Free)”ตระหนักถึงเสรีภาพ ทุกการกระทำเกิดจากการตัดสินใจเลือกของเราเอง ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม ค่านิยมของสังคม เป็นต้น แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่จำกัดเสรีภาพของมนุษย์คือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง อัตถิภาวนิยมสอนว่า จงจริงใจกับตัวเอง อย่าหลอกตัวเอง (Bad Faith) เพื่อปัดความรับผิดชอบ การกระทำที่มีคุณค่าเกิดจากการใช้เสรีภาพในการเลือกและรับผิดชอบต่อผลของการกระทำ มนุษยนิยมเห็นว่ามนุษย์มีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ให้ความสำคัญกับร่างกายกับจิตใจ จุดหมายของชีวิตคือการได้ลิ้มรสสิ่งที่มีค่าต่างๆอย่างทั่วถึงและประสมกลมกลืนกัน (ได้แก่ ความสุขทางกาย ความสงบทางใจ การชื่นชมงานศิลปะ การใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพ เป็นต้น) บรรณานุกรม วิศท์ วิศทเวทย์. จริยศาสตร์เบื้องต้น. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2539. วรรณวิสาข์ ไชยโย. มนุษย์กับปรัชญา. เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554. ---------------------------------------------
อุดมคติของชีวิต
คนเราเกิดมาเพื่ออะไร พุทธทาส อินทปัญญา สรุปได้ว่า
เกิดมาเพื่อกิน เสพติดรสของอาหาร
เกิดมาเพื่อกาม เสพติดความสนุกสนานที่เข้ามาทางอายตนะทั้ง 6
เกิดมาเพื่อเกียรติ หลงใหลการแสวงหาเกียรติ เพื่อให้คนยอมรับ แต่ถ้าหากแสวงหาเกียรติ เพื่อประโยชน์แห่งตนและผู้อื่น ก็นับว่ามีประโยชน์อยู่บ้าง
อุดมคติของชีวิต ประกอบด้วยคำว่า อุดมคติ [อุดมมะ, อุดม] น. จินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่ง ความดี ความงาม และความจริง ทางใดทางหนึ่งที่มนุษย์ ถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตของตน. (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542) และชีวิต น. ความเป็นอยู่, ตรงข้ามกับ ความตาย. (ป., ส.). ชีวิต ดู ชีว, ชีวะ. สรุปว่า อุดมคติในชีวิต คือ เป้าหมายสูงสุดในชีวิตที่ควรเป็นซึ่งมนุษย์เข้าใจได้และสามารถเลือกวิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ประโยชน์ของการรู้จักจุดหมายของชีวิต พระธรรมปิฎก ( ป.อ. ปยุตโต ) กล่าวว่า
“คนที่มีความมั่นใจในชีวิตของตน จนไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงแม้ต่อความตาย ก็เพราะได้ดำเนินชีวิตของตนอยู่อย่างดีที่สุดและได้ใช้ชีวิตนั้นให้เกิดคุณประโยชน์คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นอยู่อย่างผู้มีชัย ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต คนเช่นนั้นคือผู้ที่ได้เข้าถึงจุดหมายแห่งการมีชีวิต”
ค่าทางจริยธรรม แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ สิ่งที่มีค่านอกตัว (Extrinsic value) คือ สิ่งที่เราต้องการเพราะสิ่งนั้นเป็นเครื่องมือหรือเป็นทางนำไปสู่สิ่งที่เราต้องการได้ ตัวอย่างเช่น เงิน และ สิ่งที่มีค่าในตัว (Intrinsic value) คือ สิ่งที่เราต้องการมันเพราะตัวมันเอง เราไม่ได้ต้องการมันเพราะเป็นทางนำเราไปสู่สิ่งอื่นที่เราอยากได้มากกว่า เช่น ความสุข
อุดมคติของชีวิตในทางปรัชญามีหลายลัทธิด้วยกันที่อธิบายว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของชีวิต ได้แก่
สุขนิยม (Hedonism) ลัทธิที่ถือว่าความสุขเป็นจุดหมายเดียวของชีวิต เพราะความสุขเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง ถ้ามีสิ่งอื่นนำไปสู่ความสุข ศีลธรรม ขนบธรรมเนียม กฎหมาย ศิลปะ วิทยาการความรู้ต่างๆ เป็นสิ่งที่ดีมีค่าก็เพราะมันนำไปสู่ความสุขนั่นเอง ลัทธิสุขนิยมเห็นว่า มนุษย์ถูกสร้างมาโดยให้มีอวัยวะสำหรับรับรู้ (อายตนะทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย) เพื่อให้ชื่นชมกับสุนทรียภาพของโลก ดังนั้นมนุษย์ต้องแสวงหาความสุขอย่างเต็มที่ หากมนุษย์ที่สมบูรณ์ไม่ชื่นชมกับสุนทรียภาพของโลก เสมือนหนึ่งว่าทำตัวเป็นคนพิการ ไม่คุ้มค่ากับการใช้ชีวิต สุขนิยมมีนักปรัชญาหลายท่านที่มีความเห็นเฉพาะตน ดังนี้
ลัทธิอัตนิยม (Egoism) ของโทมัส ฮอบส์ มองว่า ธรรมชาติของมนุษย์เห็นแก่ตัว ทุกการกระทำล้วนเกิดจากความเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์ของตนทั้งสิ้น การกระทำบางอย่างดูเหมือนไม่เห็นแก่ตัว แต่แท้จริงแล้วเกิดจากความเห็นแก่ตัวที่ซ่อนอยู่นั่นเอง (เป็นเพียงการลงทุนเพื่อประโยชน์ตน) ไม่มีใครทำอะไรเพื่อผู้อื่น เพื่อความสุข สบาย ของตนเองทั้งสิ้น
สุขนิยมทางสายกลางของเอพิคิวรัส เขาเชื่อว่า มนุษย์ตายแล้วร่างกายเน่าเปื่อยไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีโลกหน้า ดังนั้นขณะมีชีวิตอยู่เราควรแสวงหาความสุขให้แก่ตนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แสวงหาความสุขในชีวิตด้วยทางสายกลาง ฉลาดเลือกความสุขที่มากและยาวนาน หลีกเลี่ยงความสุขที่หายากและราคาแพง (คุณธรรมของการแสวงหาความสุขคือความรอบคอบ)
สุขนิยมเชิงปริมาณของเจเรมี เบนธัม
ความเข้มข้นของมัน
ระยะเวลาของมัน
ความแน่นอนหรือไม่แน่นอนของมัน
ความใกล้หรือไกลของมัน
ผลิตภาวะของมัน
ความบริสุทธิ์ของมัน
การแผ่ขยายของมัน
ข้อโต้แย้งที่มีต่อสุขนิยมมีดังนี้
1. ถ้ามนุษย์แสวงหาแต่ความสุขสบายอย่างเดียว สังคมมนุษย์คงไม่เจริญดังเช่นทุกวันนี้ เช่น นักวิทยาศาสตร์ต้องตรากตรำค้นคว้าทดลองหลายปี กว่าจะได้ความรู้ใหม่ๆ นักศาสนาสละความสุข เพื่อค้นพบสัจธรรม ศิลปินใช้ความวิริยะอุตสาหะสร้างงานศิลปะ มากกว่ารักความสะดวกสบาย
2. การกระทำอันน่าสรรเสริญจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ามนุษย์คิดจะหาความสุขสบายเพียงอย่างเดียว เช่น ทหารออกรบป้องกันประเทศชาติ วีรชนยอมตายเพื่อเสรีภาพและรัฐธรรมนูญ
3. มนุษย์ไม่สามารถมีความสุขที่แท้จริงได้ เนื่องจากความอยากของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด พุทธศาสนาและนักปรัชญาหลายสำนักเห็นว่าความสุขเป็นเพียงภาพมายา ความสุขเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวแล้วดับไป ความทุกข์เท่านั้นที่เป็นของจริง
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)