จุดประสงค์ของการจัดทำบล็อกนี้ เพื่อต้องการเผยแพร่ความรู้ทางปรัชญาแก่นักศึกษาและผู้สนใจโดยทั่วไป
อุดมคติของชีวิต
คนเราเกิดมาเพื่ออะไร พุทธทาส อินทปัญญา สรุปได้ว่า
เกิดมาเพื่อกิน เสพติดรสของอาหาร
เกิดมาเพื่อกาม เสพติดความสนุกสนานที่เข้ามาทางอายตนะทั้ง 6
เกิดมาเพื่อเกียรติ หลงใหลการแสวงหาเกียรติ เพื่อให้คนยอมรับ แต่ถ้าหากแสวงหาเกียรติ เพื่อประโยชน์แห่งตนและผู้อื่น ก็นับว่ามีประโยชน์อยู่บ้าง
อุดมคติของชีวิต ประกอบด้วยคำว่า อุดมคติ [อุดมมะ, อุดม] น. จินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่ง ความดี ความงาม และความจริง ทางใดทางหนึ่งที่มนุษย์ ถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตของตน. (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542) และชีวิต น. ความเป็นอยู่, ตรงข้ามกับ ความตาย. (ป., ส.). ชีวิต ดู ชีว, ชีวะ. สรุปว่า อุดมคติในชีวิต คือ เป้าหมายสูงสุดในชีวิตที่ควรเป็นซึ่งมนุษย์เข้าใจได้และสามารถเลือกวิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ประโยชน์ของการรู้จักจุดหมายของชีวิต พระธรรมปิฎก ( ป.อ. ปยุตโต ) กล่าวว่า
“คนที่มีความมั่นใจในชีวิตของตน จนไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงแม้ต่อความตาย ก็เพราะได้ดำเนินชีวิตของตนอยู่อย่างดีที่สุดและได้ใช้ชีวิตนั้นให้เกิดคุณประโยชน์คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นอยู่อย่างผู้มีชัย ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต คนเช่นนั้นคือผู้ที่ได้เข้าถึงจุดหมายแห่งการมีชีวิต”
ค่าทางจริยธรรม แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ สิ่งที่มีค่านอกตัว (Extrinsic value) คือ สิ่งที่เราต้องการเพราะสิ่งนั้นเป็นเครื่องมือหรือเป็นทางนำไปสู่สิ่งที่เราต้องการได้ ตัวอย่างเช่น เงิน และ สิ่งที่มีค่าในตัว (Intrinsic value) คือ สิ่งที่เราต้องการมันเพราะตัวมันเอง เราไม่ได้ต้องการมันเพราะเป็นทางนำเราไปสู่สิ่งอื่นที่เราอยากได้มากกว่า เช่น ความสุข
อุดมคติของชีวิตในทางปรัชญามีหลายลัทธิด้วยกันที่อธิบายว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของชีวิต ได้แก่
สุขนิยม (Hedonism) ลัทธิที่ถือว่าความสุขเป็นจุดหมายเดียวของชีวิต เพราะความสุขเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง ถ้ามีสิ่งอื่นนำไปสู่ความสุข ศีลธรรม ขนบธรรมเนียม กฎหมาย ศิลปะ วิทยาการความรู้ต่างๆ เป็นสิ่งที่ดีมีค่าก็เพราะมันนำไปสู่ความสุขนั่นเอง ลัทธิสุขนิยมเห็นว่า มนุษย์ถูกสร้างมาโดยให้มีอวัยวะสำหรับรับรู้ (อายตนะทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย) เพื่อให้ชื่นชมกับสุนทรียภาพของโลก ดังนั้นมนุษย์ต้องแสวงหาความสุขอย่างเต็มที่ หากมนุษย์ที่สมบูรณ์ไม่ชื่นชมกับสุนทรียภาพของโลก เสมือนหนึ่งว่าทำตัวเป็นคนพิการ ไม่คุ้มค่ากับการใช้ชีวิต สุขนิยมมีนักปรัชญาหลายท่านที่มีความเห็นเฉพาะตน ดังนี้
ลัทธิอัตนิยม (Egoism) ของโทมัส ฮอบส์ มองว่า ธรรมชาติของมนุษย์เห็นแก่ตัว ทุกการกระทำล้วนเกิดจากความเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์ของตนทั้งสิ้น การกระทำบางอย่างดูเหมือนไม่เห็นแก่ตัว แต่แท้จริงแล้วเกิดจากความเห็นแก่ตัวที่ซ่อนอยู่นั่นเอง (เป็นเพียงการลงทุนเพื่อประโยชน์ตน) ไม่มีใครทำอะไรเพื่อผู้อื่น เพื่อความสุข สบาย ของตนเองทั้งสิ้น
สุขนิยมทางสายกลางของเอพิคิวรัส เขาเชื่อว่า มนุษย์ตายแล้วร่างกายเน่าเปื่อยไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีโลกหน้า ดังนั้นขณะมีชีวิตอยู่เราควรแสวงหาความสุขให้แก่ตนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แสวงหาความสุขในชีวิตด้วยทางสายกลาง ฉลาดเลือกความสุขที่มากและยาวนาน หลีกเลี่ยงความสุขที่หายากและราคาแพง (คุณธรรมของการแสวงหาความสุขคือความรอบคอบ)
สุขนิยมเชิงปริมาณของเจเรมี เบนธัม
ความเข้มข้นของมัน
ระยะเวลาของมัน
ความแน่นอนหรือไม่แน่นอนของมัน
ความใกล้หรือไกลของมัน
ผลิตภาวะของมัน
ความบริสุทธิ์ของมัน
การแผ่ขยายของมัน
ข้อโต้แย้งที่มีต่อสุขนิยมมีดังนี้
1. ถ้ามนุษย์แสวงหาแต่ความสุขสบายอย่างเดียว สังคมมนุษย์คงไม่เจริญดังเช่นทุกวันนี้ เช่น นักวิทยาศาสตร์ต้องตรากตรำค้นคว้าทดลองหลายปี กว่าจะได้ความรู้ใหม่ๆ นักศาสนาสละความสุข เพื่อค้นพบสัจธรรม ศิลปินใช้ความวิริยะอุตสาหะสร้างงานศิลปะ มากกว่ารักความสะดวกสบาย
2. การกระทำอันน่าสรรเสริญจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ามนุษย์คิดจะหาความสุขสบายเพียงอย่างเดียว เช่น ทหารออกรบป้องกันประเทศชาติ วีรชนยอมตายเพื่อเสรีภาพและรัฐธรรมนูญ
3. มนุษย์ไม่สามารถมีความสุขที่แท้จริงได้ เนื่องจากความอยากของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด พุทธศาสนาและนักปรัชญาหลายสำนักเห็นว่าความสุขเป็นเพียงภาพมายา ความสุขเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวแล้วดับไป ความทุกข์เท่านั้นที่เป็นของจริง