อุดมคติของชีวิต (ต่อ)  ลัทธิอสุขนิยมเห็นว่า ความสุขไม่ใช่สิ่งดีที่สุดของชีวิต มีสิ่งอื่นที่มีค่ามากกว่า เช่น ความสงบทางจิตหรือปัญญาความรู้ ได้แก่  ปัญญานิยมเห็นว่า ความรู้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์พึงแสวงหา นักปัญญานิยม ได้แก่ โสเกรตีส เพลโต อริสโตเติล ในทางปรัชญา เห็นว่าคุณสมบัติเฉพาะที่ทำให้สิ่งๆ หนึ่งแตกต่างจากสิ่งอื่นๆ ในประเภทเดียวกันนั้น คือ สาระ หรือสารัตถะ (Essence) ของสิ่งนั้นๆ สาระของความเป็นมนุษย์ก็คือการใช้ความคิด เหตุผล การใช้สติปัญญา และการแสวงหาความรู้  วิมุตินิยมเห็นว่า เป้าหมายของชีวิตคือความสงบจิต สอนให้มองสรรพสิ่งภายใต้กฎธรรมชาติ เช่น ความแก่ชรา แตกสลายหรือเน่าเสีย เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นวิถีชีวิตที่มุ่งสละโลก ใช้ชีวิตเรียบง่าย  วิมุตินิยมแบ่งออกเป็น 2 ลัทธิด้วยกันคือ ซินนิค เกิดจากลักษณะเบื่อหน่ายสังคม ดำเนินชีวิตเรียบง่าย ชีวิตเรียบง่ายเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง ไม่ได้เป็นวิถี (means) ไปสู่สิ่งใด ดำเนินชีวิตที่มีลักษณะหนี (negative) มากกว่าลักษณะเข้า (positive) และสโตอิค เชื่ออำนาจปัญญาของมนุษย์ ในการเข้าใจความจริงของกฎธรรมชาติ มนุษย์ควรเอาชนะใจตนเอง และควรฝึกฝนคุณธรรม 3 ประการ คือ ความอดทน ต่อความเจ็บปวด หรือความขัดแย้ง ความอดกลั้น เมื่อพบสิ่งยั่วยวนใจ และความยุติธรรมเมื่อสมาคมกับผู้อื่น สอนให้ช่วยเหลือผู้อื่นตามความสามารถของตน  อัตถิภาวนิยม ฌอง ปอล ซาร์ตร์ บิดาปรัชญาอัตถิภาวนิยมกล่าวว่า “มนุษย์คือเสรีภาพ (Man is Free)”ตระหนักถึงเสรีภาพ ทุกการกระทำเกิดจากการตัดสินใจเลือกของเราเอง ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม ค่านิยมของสังคม เป็นต้น แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่จำกัดเสรีภาพของมนุษย์คือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง อัตถิภาวนิยมสอนว่า จงจริงใจกับตัวเอง อย่าหลอกตัวเอง (Bad Faith) เพื่อปัดความรับผิดชอบ การกระทำที่มีคุณค่าเกิดจากการใช้เสรีภาพในการเลือกและรับผิดชอบต่อผลของการกระทำ  มนุษยนิยมเห็นว่ามนุษย์มีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ให้ความสำคัญกับร่างกายกับจิตใจ จุดหมายของชีวิตคือการได้ลิ้มรสสิ่งที่มีค่าต่างๆอย่างทั่วถึงและประสมกลมกลืนกัน (ได้แก่ ความสุขทางกาย ความสงบทางใจ การชื่นชมงานศิลปะ การใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพ เป็นต้น)  บรรณานุกรม  วิศท์ วิศทเวทย์. จริยศาสตร์เบื้องต้น. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2539.  วรรณวิสาข์ ไชยโย. มนุษย์กับปรัชญา. เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554. ---------------------------------------------
อุดมคติของชีวิต  คนเราเกิดมาเพื่ออะไร พุทธทาส อินทปัญญา สรุปได้ว่า  เกิดมาเพื่อกิน เสพติดรสของอาหาร  เกิดมาเพื่อกาม เสพติดความสนุกสนานที่เข้ามาทางอายตนะทั้ง 6  เกิดมาเพื่อเกียรติ หลงใหลการแสวงหาเกียรติ เพื่อให้คนยอมรับ แต่ถ้าหากแสวงหาเกียรติ เพื่อประโยชน์แห่งตนและผู้อื่น ก็นับว่ามีประโยชน์อยู่บ้าง  อุดมคติของชีวิต ประกอบด้วยคำว่า อุดมคติ [อุดมมะ, อุดม] น. จินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่ง ความดี ความงาม และความจริง ทางใดทางหนึ่งที่มนุษย์ ถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตของตน. (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542) และชีวิต น. ความเป็นอยู่, ตรงข้ามกับ ความตาย. (ป., ส.). ชีวิต ดู ชีว, ชีวะ. สรุปว่า อุดมคติในชีวิต คือ เป้าหมายสูงสุดในชีวิตที่ควรเป็นซึ่งมนุษย์เข้าใจได้และสามารถเลือกวิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว  ประโยชน์ของการรู้จักจุดหมายของชีวิต พระธรรมปิฎก ( ป.อ. ปยุตโต ) กล่าวว่า “คนที่มีความมั่นใจในชีวิตของตน จนไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงแม้ต่อความตาย ก็เพราะได้ดำเนินชีวิตของตนอยู่อย่างดีที่สุดและได้ใช้ชีวิตนั้นให้เกิดคุณประโยชน์คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นอยู่อย่างผู้มีชัย ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต คนเช่นนั้นคือผู้ที่ได้เข้าถึงจุดหมายแห่งการมีชีวิต”  ค่าทางจริยธรรม แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ สิ่งที่มีค่านอกตัว (Extrinsic value) คือ สิ่งที่เราต้องการเพราะสิ่งนั้นเป็นเครื่องมือหรือเป็นทางนำไปสู่สิ่งที่เราต้องการได้ ตัวอย่างเช่น เงิน และ สิ่งที่มีค่าในตัว (Intrinsic value) คือ สิ่งที่เราต้องการมันเพราะตัวมันเอง เราไม่ได้ต้องการมันเพราะเป็นทางนำเราไปสู่สิ่งอื่นที่เราอยากได้มากกว่า เช่น ความสุข  อุดมคติของชีวิตในทางปรัชญามีหลายลัทธิด้วยกันที่อธิบายว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของชีวิต ได้แก่  สุขนิยม (Hedonism) ลัทธิที่ถือว่าความสุขเป็นจุดหมายเดียวของชีวิต เพราะความสุขเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง ถ้ามีสิ่งอื่นนำไปสู่ความสุข ศีลธรรม ขนบธรรมเนียม กฎหมาย ศิลปะ วิทยาการความรู้ต่างๆ เป็นสิ่งที่ดีมีค่าก็เพราะมันนำไปสู่ความสุขนั่นเอง ลัทธิสุขนิยมเห็นว่า มนุษย์ถูกสร้างมาโดยให้มีอวัยวะสำหรับรับรู้ (อายตนะทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย) เพื่อให้ชื่นชมกับสุนทรียภาพของโลก ดังนั้นมนุษย์ต้องแสวงหาความสุขอย่างเต็มที่ หากมนุษย์ที่สมบูรณ์ไม่ชื่นชมกับสุนทรียภาพของโลก เสมือนหนึ่งว่าทำตัวเป็นคนพิการ ไม่คุ้มค่ากับการใช้ชีวิต สุขนิยมมีนักปรัชญาหลายท่านที่มีความเห็นเฉพาะตน ดังนี้  ลัทธิอัตนิยม (Egoism) ของโทมัส ฮอบส์ มองว่า ธรรมชาติของมนุษย์เห็นแก่ตัว ทุกการกระทำล้วนเกิดจากความเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์ของตนทั้งสิ้น การกระทำบางอย่างดูเหมือนไม่เห็นแก่ตัว แต่แท้จริงแล้วเกิดจากความเห็นแก่ตัวที่ซ่อนอยู่นั่นเอง (เป็นเพียงการลงทุนเพื่อประโยชน์ตน) ไม่มีใครทำอะไรเพื่อผู้อื่น เพื่อความสุข สบาย ของตนเองทั้งสิ้น  สุขนิยมทางสายกลางของเอพิคิวรัส เขาเชื่อว่า มนุษย์ตายแล้วร่างกายเน่าเปื่อยไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีโลกหน้า ดังนั้นขณะมีชีวิตอยู่เราควรแสวงหาความสุขให้แก่ตนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แสวงหาความสุขในชีวิตด้วยทางสายกลาง ฉลาดเลือกความสุขที่มากและยาวนาน หลีกเลี่ยงความสุขที่หายากและราคาแพง (คุณธรรมของการแสวงหาความสุขคือความรอบคอบ)  สุขนิยมเชิงปริมาณของเจเรมี เบนธัม  ความเข้มข้นของมัน  ระยะเวลาของมัน  ความแน่นอนหรือไม่แน่นอนของมัน  ความใกล้หรือไกลของมัน  ผลิตภาวะของมัน  ความบริสุทธิ์ของมัน  การแผ่ขยายของมัน  ข้อโต้แย้งที่มีต่อสุขนิยมมีดังนี้ 1. ถ้ามนุษย์แสวงหาแต่ความสุขสบายอย่างเดียว สังคมมนุษย์คงไม่เจริญดังเช่นทุกวันนี้ เช่น นักวิทยาศาสตร์ต้องตรากตรำค้นคว้าทดลองหลายปี กว่าจะได้ความรู้ใหม่ๆ นักศาสนาสละความสุข เพื่อค้นพบสัจธรรม ศิลปินใช้ความวิริยะอุตสาหะสร้างงานศิลปะ มากกว่ารักความสะดวกสบาย 2. การกระทำอันน่าสรรเสริญจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ามนุษย์คิดจะหาความสุขสบายเพียงอย่างเดียว เช่น ทหารออกรบป้องกันประเทศชาติ วีรชนยอมตายเพื่อเสรีภาพและรัฐธรรมนูญ 3. มนุษย์ไม่สามารถมีความสุขที่แท้จริงได้ เนื่องจากความอยากของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด พุทธศาสนาและนักปรัชญาหลายสำนักเห็นว่าความสุขเป็นเพียงภาพมายา ความสุขเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวแล้วดับไป ความทุกข์เท่านั้นที่เป็นของจริง